วันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายไพศาล ศรีเทพ นายอำเภอคลองท่อม เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 โดยมี นายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ พบปะพี่น้องเกษตรกรที่มาร่วมงาน และ นายชัยยุทธ์ ทองชัย เกษตรอำเภอคลองท่อม กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอคลองท่อม หมู่ที่ 7 ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่
นายไพศาล ศรีเทพ นายอำเภอคลองท่อม กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการทำการเกษตร ซึ่งต้องมีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด มีการพัฒนาให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเป็นแหล่งเรียนรู้ของอำเภอ ดังนั้น การเริ่มต้นปีการเพาะปลูกใหม่ ถ้าเกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรได้เข้าถึงและนำไปใช้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสังคมก็จะมีแต่ความสุข
นายชัยยุทธ์ ทองชัย เกษตรอำเภอคลองท่อม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานในวันนี้สืบเนื่องมาจากภาคการเกษตรของไทยได้เข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่แล้ว ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเริ่มต้นปีเพาะปลูก ดังนั้นเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีการใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรขึ้นในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรสอดคล้องกับการผลิตสินค้าหลัก และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้
อำเภอคลองท่อมได้คัดเลือกพื้นที่ของนายประภาส กาเยาว์ ศูนย์เรียนรู้จการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรระดับอำเภอ (ศพก.หลัก) เป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ มีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องปาล์มน้ำมัน รวมถึงการทำการเกษตรโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต กิจกรรมภายในงาน จัดให้มีสถานีเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งแต่ละสถานี จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงาน โดยมีจำนวน 4 สถานีเรียนรู้ ดังนี้
- สถานีที่ 1 การจัดการสวนปาล์มน้ำมัน
- สถานีที่ 2 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน
- สถานีที่ 3 โรคกาโนเดอร์มา
- สถานีที่ 4 การจัดทำบัญชีฟาร์ม
นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงองค์ความรู้ กิจกรรมทางการเกษตร และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในการถ่ายทอดความรู้ สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอคลองท่อม และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 150 คน