เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
“เกษตรกรอยู่รอดประเทศไทยอยู่ได้” ไม่ได้เป็นคำที่กล่าวขึ้นมาลอยๆ สิ่งที่ “เกษตรก้าวไกล” มุ่งหวังสูงสุดก็คือเรื่องการพัฒนาอาชีพเกษตรให้เกิดความยั่งยืน หลายท่านคงทราบว่า GDP ภาคเกษตรลดต่ำเรื่อยๆ เหลือเพียง 8% ในปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่คนไทยส่วนใหญ่ 1 ใน 3 อยู่ในภาคเกษตร นั่นหมายถึงรายได้ต่อหัวของเกษตรกรน้อยมาก ยิ่งทำเกษตรยิ่งยากจน เพราะเราไม่ได้พัฒนาให้ถูกทิศถูกทาง นโยบายที่ว่าต้องเป็นเกษตร 4.0 คือใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรจึงถูกหยิบนกมาใช้…
บ้านเราเคยหลงใหลได้ปลื้มว่าขายข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่แค่หม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ใช้กันทุกครัวเรือนมีสักแบรนด์สักยี่ห้อหรือไม่ที่เป็นของคนไทยแท้ๆ
อย่างที่เคยบอกในครั้งที่แล้วว่า Covid-19 ได้บังคับให้เกษตรกรทุกคนลุกขึ้นสู้จากที่เคยตั้งหน้าตั้งปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ต่อไปนี้ก็จะกลายมาเป็นผู้ประกอบการอย่างเต็มตัว ทุกคนสามารถทำมาค้าขายได้โดยตรง เลิกหวังคนกลางเพียงอย่างเดียว หันกลับมาสำรวจว่าสถานประกอบการของเราตัวของเรามีอะไรเป็นจุดเด่นหรือมีศักยภาพที่จะนำมาเป็นจุดขายได้บ้าง
“เกษตรก้าวไกล” เดินเข้าออกหลายสวน ชนิดที่ว่า “ลุยเกษตรสุดเขตไทย” ได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกรคนแล้วคนเล่า ถ้าเราไม่ร่วมมือกันนำความคิดที่ตกผลึกร่วมกันมาปฏิบัติก็ยากที่จะเป็นจริงได้ ณ สวนเสน่ห์พันธุ์ไม้ ที่มี “ลุงเล็ก-เสน่ห์ ลมสถิตย์” เป็น CEO (เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่มีภรรยาและลูกเป็นรองประธานและกรรมการผู้จัดการ) ได้ดำเนินกิจการปลูกมะม่วงและรวบรวมมะม่วงหลากสายพันธุ์จากทั่วโลก โดยเฉพาะมะม่วงพันธุ์ไต้หวันมากมายก่ายกองนัก รวมทั้งไม้ผลชนิดอื่นๆ มาอยู่ในสวนเดียวกัน เดิมนั้นก็ตั้งใจจะขายผลผลิต แต่ไปๆมาๆก็กลายเป็นว่ามีรายได้หลักจากการขายกิ่งพันธุ์ โดยตลาดหลักจะอยู่ที่สวนจตุจักรทุกวันพุธและพฤหัสบดี
เราเดินวนไปมาในสวนได้เห็นความหลากหลายในพันธุกรรมไม้ผล โดยเฉพาะมะม่วงที่มีสายพันธุ์จากทั่วโลกมากที่สุดแห่งหนึ่งของสวนที่เป็นเกษตรกร (ไม่นับศูนย์วิจัยของราชการ) ตรงนี้แหละน่าจะเป็นจุดเด่นของสวนที่น่าจะนำไปบอกต่อเพื่อให้ผู้สนใจเดินทางมาชมที่สวน “ทำอย่างไรให้ตลาดเกิดขึ้นที่สวนที่ฟาร์มหรือที่หน้าบ้านของเกษตรกร” มันทำให้คิดถึงประโยคนี้ของหลายๆคนที่พูดผ่านหูครั้งแล้วครั้งเล่าก็ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง “สวนลุงเล็กเข้าตามหลักการนี้เลย เพราะว่าอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง ถนนหน้าบ้านก็ขยายขึ้นใหม่ คงสะดวกแก่การเดินทาง ผลผลิตของสวนก็น่าจะเชิญชวนให้ผู้คนหลั่งไหลมาชิมได้ ยิ่งภูมิปัญญาเจ้าของสวนก็ไม่ต้องพูดถึง และเมื่อยิ่งได้สัมผัสลงลึกก็พบว่าเจ้าของสวนมีจิตใจแบ่งปันความรู้ไม่เป็นสองรองใคร ฉะนั้นแล้วจะชักช้าอยู่ใย ต้องจัดกิจกรรมขึ้นมาสักอย่างล่ะ ไม่งั้นความคิดก็ล่องลอยไปตามสายลมวันแล้ววันเล่า จะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา…” คือความคิดที่ได้เริ่มก่อตัวขึ้นมา
จากความคิดดังกล่าวก็ถูกพัฒนามาตามลำดับ จนในที่สุดก็ลงตัวว่าเราจะจัดกิจกรรมเสวนากลางสวน Talk of The Farm เรื่อง การปลูกมะม่วงโลกบนดินแดนประเทศไทย ตอนบุฟเฟ่ต์มะม่วงนานาชาติ (International Mango Buffet, Thailand) โดยจะจัดกันกลางสวนเสน่ห์พันธุ์ไม้ ต.ขุนศรี อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี…ได้ถามลุงเล็กว่ามะม่วงที่สวนจะสุกช่วงไหน เดิมลุงเล็กบอกว่าน่าจะปลายเดือนเมษายน แต่ล่าสุด(29 มีนาคม 2564) บอกว่าน่าจะเป็นช่วงต้นเดือนไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2564 มะม่วงสายพันธุ์ต่างประเทศจะสุกช่วงนั้น คือจะช้ากว่ามะม่วงไทย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยว่าจะจัดกิจกรรมวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.30-17.30 น. หรือใครที่อยากต่อเวลาก็ให้แจ้งมาจะจัดสรรให้หนำใจ
รูปแบบของกิจกรรมที่จะจัดขึ้น นอกจากจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเจ้าของสวน ทั้งการทำความรู้จักสายพันธุ์มะม่วงจากทั่วโลก รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องการปลูกและการขยายพันธุ์แล้ว เรามั่นใจว่าในวันนั้นจะมีแฟนพันธุ์ดีมะม่วงพันธ์แท้มาร่วมเสวนากันอย่างคึกคัก และอีกประการหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้หวังที่จะกระตุ้นให้คนไทยหันมารับประทานมะม่วง ที่เวลานี้ทยอยออกมาจำนวนมาก ในขณะที่การส่งออกของเรายังไม่คล่องตัว ก็หวัวงคนไทยเรานั่นแหละที่จะช่วยกันให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้
มะม่วงสายพันธุ์ต่างประเทศที่จะได้รับประทานในวันนั้นจะมีไม่น้อยกว่า 10 สายพันธุ์ (ปกติหลายสิบสายพันธุ์ แต่ปัญหาคือจะสุกไม่พร้อมกัน) เพราะเหตุนี้จึงเป็นที่มาของงานบุฟเฟ่ต์มะม่วงนานาชาติ…แนวคิดนี้มาจากในบ่ายวันหนึ่งที่ผู้เขียนได้เห็นลุงเล็กดึงลิ้นชักบอกว่าเก็บมะม่วงไว้กินกันและซื้อข้าวเหนียวมะม่วงมาด้วย “มะม่วงของเกษตรกรไทยจะต้องออกจากลิ้นชักออกจากสวนไปสู่คนทั่วโลก” ความคิดที่จะจัดกิจกรรมนี้ก็โลดแล่นทันที
ขอเรียนว่ากิจกรรมในครั้งนี้ เราไม่ได้มุ่งหวังกำไรที่เป็นตัวเงิน ไม่ได้ยึดเรื่องรายได้เป็นตัวตั้ง แต่ยึดเรื่องของการสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆให้เกิดขึ้นในสวนของพี่น้องเกษตรกร และไม่เพียงความรู้เรื่องมะม่วงสายพันธุ์ต่างๆ แนวคิดเสริมของงานคราวนี้คือ “อร่อย ครึกครื้น ชื่นใจ” โดยในวันนั้นนอกจากจะได้ชิมมะม่วงที่อร่อย อันเป็นสายพันธุ์เด่นๆของประเทศต่างๆแล้ว เรายังจะมีข้าวเหนียวมูนจากร้านชื่อดังของจังหวัดนนทบุรี (ข้าวเหนียวคุณพะเยาว์ กฤษแก้ว ขายประจำที่หน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนติวานนท์ 25 และโรงพยาบาลชลประทาน สอนอยู่ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน) อีกทั้งยังจะได้ชื่นใจกับไอศกรีมมะม่วงชื่อดังจากปทุมธานี (มานะไอศกรีม ทำไอศกรีมส่งร้านอาหาร อีกทั้งสอนอยู่ที่ศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน) มาร่วมสมทบจัดเสิร์ฟคู่กับความรู้ ตามความตั้งใจของลุงเล็กเจ้าของสวนนั้น บอกว่าไม่คิดสตางค์ แต่ในฐานะผู้จัด ต้องการให้ทุกคนได้มีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน จึงตั้งต้นเป็นค่าผ่านประตูเข้าสวนคนละ 200 บาท เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าข้าวเหนียวมูนและไอศกรีม ซึ่งทั้งข้าวเหนียวมูนและไอศกรีมต่างก็บอกว่าอยากจะมีส่วนร่วม แต่ในฐานะผู้จัดคงจะฟรีไม่ได้ เพราะว่าเผื่อคราวหน้าคราวหลัง จะได้มีครั้งต่อไปอย่างยั่งยืนไม่ใช่จัดครั้งเดียว ขาดทุนกินเนื้อตัวเองก็เลิกกันไป
อนึ่ง ตามความตั้งใจของผู้จัดก่อนถึงวันงานเราจะมีการประกวดคลิปเชิญชวนคนไทยกินมะม่วง และวันงานเราตั้งใจจะเชิญ youtuber และ creator มาร่วมรีวิวกินมะม่วงที่สวนของเกษตรกรไทย(นอกเหนือจากทุกท่านที่สามารถรีวิวตามหน้าสื่อของตนเอง) และชมสวนมะม่วงในประเทศไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานและจะแจ้งอีกครั้งว่าเป็นไปได้แค่ไหน สิ่งที่เป็นไปได้ตอนนี้ก็คือขอให้คนไทยทุกคนที่มีหัวใจเกษตรรีบติดต่อจองบัตรผ่านประตูได้ที่โทรไลน์ 0863266490 หรือ 0897877373 พอถึงเวลาก็จูงมือบุตรฉุดมือหลานเดินทางไปที่สวนของเกษตรกร ภายใต้แนวคิด “ต่างคนต่างไปหัวใจเดียวกัน” ขอย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้เราจัดขึ้นเพื่อคนไทยผู้มีส่วนได้เสียทุกคน…เกษตรคือประเทศไทย เกษตรกรอยู่รอดประเทศไทยอยู่ได้ ทำอย่างไรให้ถนนทุกสายมุ่งสู่เกษตรกรไทย All Roads To Farmers เราต้องสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นบนผืนดินของเกษตรกรไทยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้
หมายเหตุ ภาพมะม่วงส่วนหนึ่งนำมาจากเฟสบุ๊ค “ลุงเล็ก สวนเสน่ห์พันธุ์ไม้” และภาพแรกที่เป็นข้าวเหนียวมะม่วง (คัดมาบางส่วน) ต้นฉบับมาจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้