GDP เกษตรฟื้นตัว ไตรมาสแรก เติบโต 1.4% คาดทั้งปี ทุกสาขาขยายตัว 1.7 - 2.7%
GDP เกษตรฟื้นตัว ไตรมาสแรก เติบโต 1.4% คาดทั้งปี ทุกสาขาขยายตัว 1.7 - 2.7%

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2564 (มกราคม – มีนาคม 2564) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยปัจจัยสำคัญมาจากฝนที่ตกสะสมเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้เพิ่ม ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายของภาครัฐ อาทิ การขยายช่องทางการตลาดทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ การประกันรายได้ รวมถึงมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่น การส่งเสริมอาชีพเกษตร และการพักชำระหนี้ ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

สาขาพืช ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 พืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง และ อ้อยโรงงาน เนื่องจากปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับเกษตรกรมีการจัดการดูแลรักษาที่เหมาะสม ขณะที่ มันสำปะหลัง และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น สับปะรดโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสับปะรดโรงงานในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจ ให้เกษตรกรมีการบำรุงรักษาต้นสับปะรดดีขึ้น ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางพาราที่กรีดได้ส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ลำไย ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะสม มีปริมาณน้ำเพียงพอ และ ทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษา และมีการทำทุเรียนนอกฤดูมากขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้มีการติดดอกออกผลได้มากขึ้น รวมถึงพื้นที่ปลูกใหม่ ในปี 2559 เริ่มให้ผลผลิตได้ในปี 2564 เป็นปีแรก ด้านพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2562 ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของต้น ทำให้มีการติดผลปาล์มน้อย และทะลายปาล์มน้ำหนักน้อย ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่จึงลดลง

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 0.5 เป็นผลจากการเพิ่มปริมาณการผลิต ตามความต้องการบริโภคของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบกับการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าปศุสัตว์หลัก ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 7.3 เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่าเทียบเรือลดลง ส่วนปริมาณกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีทิศทางลดลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับลดพื้นที่การเลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงน้ำจืด ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากฝนตกทั่วถึงทุกพื้นที่ในช่วงปลายปี 2563 จึงมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเลี้ยง ประกอบกับเกษตรกรมีการอนุบาลลูกปลาให้ได้ขนาดใหญ่ก่อนปล่อยลงบ่อเลี้ยงเพื่อเพิ่มอัตราการรอด และเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์ จึงมีผลผลิตเพิ่มขึ้น

สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยกิจกรรมการเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ในส่วนของการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงาน แม้ว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชอื่น แต่ผู้ประกอบการได้ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการใช้เครื่องจักรกลในการตัดอ้อยมากขึ้น โดยการจัดหารถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญา

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัส ไม้ยางพารา และรังนก เพิ่มขึ้น โดยผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ขณะที่ผลผลิตไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชชนิดอื่น และรังนกยังมีความต้องการจากประเทศจีนและกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตถ่านไม้ลดลง เนื่องจากความต้องการที่ชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่GDP เกษตรฟื้นตัว ไตรมาสแรก เติบโต 1.4%

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2564 คาดว่า จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยทุกสาขาการผลิต ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว และคาดว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะมีมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดีทั้งในด้านการผลิตและการตลาด มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว

“แม้การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรตลอดทั้งปี 2564 จะมีทิศทางที่ดี โดยมีการขยายตัวทุกสาขา การผลิต แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาน้ำมัน ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ซึ่งแน่นอนว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป ทั้งการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบเตือนภัยด้านการเกษตร การส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy นอกจากนี้ ยังเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและหลักประกันความมั่นคงทางด้านรายได้ เช่น การประกันภัยพืชผล การทำเกษตรพันธสัญญา รวมไปถึงส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำเกษตรในรูปแบบเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำสูง และยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรด้วยเช่นกัน” เลขาธิการ สศก. กล่าว

อัตราการเติบโตของภาคเกษตร

                                                                                                                    หน่วย: ร้อยละ

สาขา ไตรมาส 1/2564

(เดือนมกราคม – มีนาคม 2564)

ภาคเกษตร 1.4
พืช 3.6
ปศุสัตว์ 0.5
ประมง -7.3
บริการทางการเกษตร 0.7
ป่าไม้ 1.2

ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated