เรื่อง/ภาพ : ลุงพร เกษตรก้าวไกล
ในวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 เวลา 13.00-17.00 น. เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่เกิดขึ้นบนผืนดินของเกษตรกร นั่นก็คือ การจัดกิจกรรมห้องเรียนกลางสวน ตอน “ลุยเที่ยวเกี่ยวความรู้ที่ไร่คุณชาย” โดย “เกษตรอคาเดมี” ในเครือเกษตรก้าวไกล (เครือเดียวกันแต่คนละหวี) มุ่งหวังที่จะให้สวนหรือไร่นาของเกษตรกรเป็นห้องเรียน แทนที่จะเป็นที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และขายผลผลิตเพียงอย่างเดียวก็มาเป็นสถานที่เรียนรู้หรือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปด้วย
การจัดกิจกรรมของเราครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งหวังเรื่องกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่เรามุ่งหวังให้กิจกรรมเกิดขึ้นในสวนของพี่น้องเกษตรกร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบาย 4.0 “ทำน้อยได้มาก” ซึ่งหลายสวนที่มีความพร้อมก็อาจจะจัดได้ดีอยู่แล้ว แต่หลายสวนก็อาจจะยังไม่มีความพร้อม เราในฐานะสื่อมวลชนเกษตรจึงคิดว่าจะเข้าไปช่วยเติมเต็ม เท่าที่จะสามารถทำได้ ตามประสบการณ์ที่มีอยู่ เพื่อให้ภาคเกษตรขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าและสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเกษตร…
ทุกท่านคงทราบกันดีว่าช่วงเวลาที่โควิด-19 ได้มาอยู่กับเรา ทำให้เราต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง บังคับให้เกษตรกรเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการโดยสมบูรณ์แบบ ถนนทุกสายมุ่งสู่ภาคเกษตร แต่จะมีเกษตรกรสักกี่คนที่ปรับตัวได้ “เกษตรกรอยู่รอดประเทศไทยอยู่ได้” คือคำขวัญที่เราจะใช้รณรงค์ตลอดปี 2564 “เพราะเราเชื่อมั่นว่าเกษตรคือประเทศไทย ถ้าทำให้เศรษฐกิจภาคการเกษตรเติบโตได้ประเทศไทยของเราก็จะเจริญอย่างยั่งยืน” การจัดโครงการห้องเรียนกลางสวนที่ไร่คุณชายจึงถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่เราได้มุ่งมั่นดำเนินการมาเป็นระยะๆ จะว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่หลายองค์กรคำนึงก็ใช่ โดยพัฒนาต่อยอดมาจากเสวนาเกษตรสัญจรหรือทัวร์เกษตร ที่เกิดขึ้นและได้รับความนิยมมากเมื่อหลายสิบปีก่อน ผู้ที่ริเริ่มและอยู่ในความทรงจำของพวกเราก็คือ คุณประพันธ์ ผลเสวก บรรณาธิการบริหารนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ในเครือมติชนสมัยนั้น
กล่าวสำหรับ “เกษตรก้าวไกล” ก็นำมาปรับต่อยอดใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดเสวนาเคลื่อนที่เร็ว ที่เรียกว่า Talk of The Farm รวมทั้ง “ห้องเรียนกลางสวน” ที่กำลังดำเนินการในวันนี้ที่ไร่คุณชาย บ้านพุตะเคียน ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เป็นรูปแบบที่เจ้าของสวนได้ถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์ที่ทำอยู่จริงๆ โดยคุณสมชาย แซ่ต้น เจ้าของสวนที่ยึดมั่นในอาชีพเกษตรหลายสิบปี และวันนี้เรายังได้รับเกียรติจาก คุณครูลออ ดอกเรียง วิทยากรชุมชน ที่ได้มาให้ความรู้เรื่อง พืชทนแล้ง พร้อมทั้งสาธิตการเสริมรากพืชด้วย
กิจกรรมของเราได้เริ่มต้นขึ้นเวลา 13.00 น. พอถึงเวลานัดหมายกลุ่มผู้สนใจก็มากันพร้อมหน้า “ต่างคนต่างมาหัวใจเดียวกัน” คือแนวคิดที่เราใช้ในคราวนี้ นั่นคือให้ทุกคนที่มีหัวใจเกษตรเดินทางมากันเอง ตามปกติอาจจะนัดพบกันที่จุดใดจุดหนึ่งและนั่งรถกันมา แต่ตามรูปแบบเดิมนี้เราพบว่าไม่สะดวกในภาวะปัจจุบันที่ทุกคนเน้นความเป็นอิสระ เรียกว่าทั้งแต่ระบบออนไลน์เฟื่องฟูทุกคนต้องรับผิดชอบตนเอง ไม่ต้องรอคนนั้นคนนี้ แค่ตั้งโลเคชั่นของสวน คุณจะหยุดแวะระหว่างทางเพื่อช่วยกันสร้างเศรษฐกิจ(กระจายรายได้)ก็ทำได้สะดวก พอถึงเวลาก็มาพบกันที่สวนเลย (ยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิดที่ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่ภาคการเกษตร) มาไกลสุดจากจังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากันในแบบครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ลุยเดี่ยว)
ในครั้งนี้เรายังได้รับเกียรติจากนักวิจัยที่เป็นระดับดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถึง 2 ท่าน มาร่วมคณะและจัดทำข้อมูลท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรไทยในโอกาสต่อไป
พอพูดคุยถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของเจ้าของสวนและผู้จัดเสร็จสรรพก็เป็นการแนะนำตัวว่าผู้ร่วมคณะเป็นใครมาจากไหนก้นบ้าง จากนั้นก็เข้าเรื่องราวการทำสวนตามหัวข้อเรื่องที่วางไว้ โดย คุณสมชาย แซ่ตัน ได้บรรยายเรื่องหลักคิดและวิธีการทำสวนในรูปแบบเกษตรผสมผสานว่าทำอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร ปลูกพืชชนิดไหนบ้างที่เข้ากันได้ดี และมีตลาดสม่ำเสมอ ต่อด้วย ครูลออ ดอกเรียง ได้มาบรรยายเรื่องการปลูกพืชทนแล้งและสาธิตเสริมรากมะกรูด ส้มโอ และมะขามป้อม
เมื่อพูดคุยทำความเข้าใจและเปิดโอกาสให้ซักถามกันแล้ว ประมาณ 15.00 น. เป็นการพักเบรก มีทั้งมะพร้าวน้ำหอมที่เฉาะกันสดๆ เป็นเครื่องดื่มธรรมชาติที่ต้อนรับตั้งแต่ก้าวย่างมาถึงสวน ผสมด้วยกล้วยไข่ที่ชมกันว่าหวานอร่อยมาก กล้วยหินต้มก็มันหวานนิดๆ บางคนก็เพิ่งทานครั้งแรก แซมด้วยมะม่วงหวานพอดีๆ มะละกอฮอลแลนด์ มะขามหวานสีทอง และไฮไลท์วันนี้คือมะปรางมะยงชิดที่เก็บมาให้ชิมกันถาดใหญ่ หรือใครจะไปเก็บจากต้นที่อยู่ใกล้ๆกันทางเจ้าของสวนก็เปิดพิเศษในวันนี้
ได้เวลาก็เดินเลาะชมสวน เริ่มจากแปลงข้างบ้าน เดินไปพลางพูดคุยกันไปพลาง ทั้งเจ้าทุเรียน กล้วย มะยงชิด มะละกอ มะม่วง มะนาว ยืนยิ้มน้อยยิ้มใหญ่(สังเกตดูอยู่ระหว่างออกดอกผลิผล) และมาหยุดเป็นจุดๆ ตามกลุ่มของพืชที่ปลูก ซึ่งเน้นไม้ผลเป็นพิเศษ ที่หยุดอยู่นาน เช่น กลุ่มทุเรียนที่มีหลายอายุ แต่ที่อายุ 3-4 ปี จะเยอะหน่อย ซึ่งกำลังออกดอกให้ผลผลิตหลายต้น มะยงชิดก็กำลังสุกพอดี ยืนคุยไป เก็บกินไป ขยับไปตรงขนุนต้นใหญ่มีปลูกไว้ไม่กี่ต้นตามจุดต่างๆที่ตั้งใจจะให้เป็นร่มเงา แต่ดันดกเหลือหลาย ส้มโอก็ใช่ย่อยแข่งกันออกลูกจนกิ่งต้องโน้มลงมากเกือบติดดิน เช่นเดียวกับเงาะโรงเรียนที่ออกลูกไล่เลี่ยกัน ดกกมากๆ ไม่มีกิ่งไหนที่ไม่มีลูกก็ว่าได้ คิดมองภาพไปถึงเดือนพฤษภาคมที่จะถึงคงจะแดงเต็มต้น เห็นเจ้าของสวนโปรยๆว่า จะทำเป็นสกายวอล์กแบบเตี้ยๆให้นักท่องเที่ยวเดินมาเก็บกินและถ่ายรูป เช่นเดียวกับทุเรียนก็จะมามีให้ชิมในช่วงนั้นบ้าง แต่อาจจะยังไม่มาก “ตั้งใจว่าเดือนพฤษภาคมจะจัดบุฟเฟ่ต์เงาะเชิญมาเที่ยวกันนะครับ” เจ้าของสวนย้ำ
พวกเราเดินลัดเลาะชมสวน พร้อมการเรียนรู้จากของจริง จนถึงเวลาประมาณ 16.30 น. ก็ไปรวมตัวกันที่ศาลาเอนกประสงค์ของสวนอีกครั้งหนึ่ง หลังเช็ดหน้าเช็ดตาด้วยผ้าเย็น (ต้องยอมรับว่าเดินกันนานและได้เหงื่อเหมือนกัน) ก็หยุดดื่มน้ำและทานบุฟเฟ่ต์ผลไม้กันต่อ พร้อมกับเจ้าของสวนได้สรุปความรู้ที่ได้รับ ใครมีอะไรซักถามเพิ่มเติมก็ได้อีกนิดหน่อย แต่เราจะมีกลุ่มไลน์ไว้สอบถามกันต่อ…
ปิดท้ายเจ้าของสวนมอบกล้วยไข่กลับบ้านกันคนละกล่อง และหาซื้อผลไม้ที่เป็นผลผลิตของสวนไปฝากคนที่บ้าน หรือฝากเพื่อนบ้านก็ตามอัธยาศัย..และก็ไม่ลืมถ่ายภาพร่วมกันที่ป้ายไร่คุณชาย (วันนี้ป้ายจะเก่าๆหน่อยๆแต่ก็ยังขลังอยู่) ซึ่งเสียดายว่าวันนี้สมาชิกที่มากันครอบครัวใหญ่ที่มีคุณแม่ซึ่งอายุมาก และคุณลูก ได้ขอตัวกลับก่อนเวลาเล็กน้อย แต่เสียงเฮ(ถ่ายคลิปไว้)ก็ยังดังลั่น ก็หวังว่าแนวคิดนี้จะกระจายไปยังสวนเกษตรหรือฟาร์มเกษตรต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศให้ลุกขึ้นมาหาหนทางให้อยู่รอดอยู่นานและยั่งยืนตลอดไปนะครับ
อนึ่ง “เกษตรอคาเดมี” (เรียนรู้สิ่งดีๆจากของจริง) ในเครือเกษตรก้าวไกลจะยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับสวนหรือฟาร์มต่างๆ รวมทั้งองค์กรที่มองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆให้เกิดขึ้นกลางสวนกลางฟาร์ม รวมทั้งการร่วมมือกับอาจารย์หรือนักวิชาการต่างๆ เพื่อหาจุดลงตัวที่เป็นมาตรฐานของท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อนำมาสรุปจัดทำเป็นข้อมูลเพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์ในวงกว้างต่อไปครับ