วันพุธที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 08.30 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมปล่อยปลาน้ำจืดจำนวน 3 ล้านตัว “ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด” จำนวน 3 จุด ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ได้แก่ เขตหนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฯลฯ รวมทั้งนายขจิต ชัชวานิชย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร หัวหน้าส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด “โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด” ณ โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำและคงความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งต้องการคุ้มครองและสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงน้ำจืดให้เกิดประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ประกอบกับสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ให้เห็นคุณค่าของทรัพยากร ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ และเป็นการบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงได้มอบหมายให้กรมประมงจัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืดขึ้น ในแหล่งน้ำสาธารณะ ครอบคลุมเขตหนองจอก มีนบุรีและลาดกระบัง รวมปล่อยพันธุ์ปลาทั้งสิ้น 3 ล้านตัว เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้แก่เกษตรกรและประชาชนในบริเวณนี้
ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันพันธุ์ปลาน้ำจืดพื้นเมืองของไทยในแหล่งน้ำสาธารณะหลายชนิดมีปริมาณลดลง และพบว่าพันธุ์ปลาบางชนิดมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ไปจากแหล่งน้ำ ดังนั้น
การปล่อยพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยในแหล่งน้ำเพื่อทดแทนปริมาณที่ลดลงจะสามารถช่วยฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืดและคงความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำรวมถึงรักษาสภาพความสมดุลตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งการบริหารจัดการประมงและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงในอนาคตอย่างยั่งยืน กรุงเทพมหานครฯ ถึงแม้ว่าจะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและมีการพัฒนาเทคโนโลยีและสิ่งปลูกสร้างมากมาย แต่ในด้านเกษตรกรรมนั้นก็ยังมีเกษตรกรทำนาข้าว พืชสวน และประมง โดยในส่วนของภาคประมงจากรายงานพบว่ามีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) กับสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 2,978 ราย มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 30,257 ไร่ สามารถสร้างผลผลิตสัตว์น้ำกว่า 8,277,334 กิโลกรัม/ปี
“โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาน้ำจืด” กำหนดจัดขึ้นในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก จำนวน 3 เขต
ได้แก่ เขตหนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญและเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญต่อ
ประชาชนกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง โดยภายในโครงการฯ ได้ปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดและสนับสนุนพันธุ์ปลาน้ำจืด ให้แก่ชุมชนนำไปปล่อยในแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณใกล้เคียง จำนวนรวมทั้งสิ้น 3 ล้านตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว ปลากระแห ปลากาดำ ปลาตะเพียนทอง และปลาหมอไทย โดยกำหนดจุดปล่อยพร้อมกันจำนวน 6 จุด (เฉพาะจุดหลักที่มีพิธีการมี 3 จุด) ดังนี้
- จุดที่ 1 : โรงเรียนสุเหร่าศาลาแดง แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
- จุดที่ 2 : วัดทองสัมฤทธิ์ แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ
- จุดที่ 3 : วัดพลมานีย์ แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ
- จุดที่ 4 : โรงเรียนวัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
- จุดที่ 5 : โรงเรียนนารีราษฎร์ประดิษฐ์ (วัดพระยาปลา) แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
- จุดที่ 6 : ถนนคนเดินคลองลำไทร แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กรุงเทพฯ
สำหรับการจัดงานในวันนี้นอกจากจะมีการปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะแล้ว กรมประมงได้จัดพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงให้คำแนะนำข้อมูลความรู้ทางด้านวิชาการไว้บริการให้แก่ประชาชนที่ร่วมงานสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเกษตรกรชาวประมง เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นการปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นถิ่นของตนเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำสูงสุด
“กรมประมง กระทรวงเกษตรเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อให้เกิดการยอมรับอย่างแท้จริง อันจะเห็นได้จากกิจกรรมต่างๆ ที่กรมประมงมีนโยบายในการเชิญตัวแทนพี่น้องเกษตรกรชาวประมงที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟังและเสนอความคิดเห็นร่วมกันเสมอเพื่อแสดงเจตนารมณ์ให้เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐมีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนงานด้านประมงโดยรับฟังเสียงจากเกษตรกรชาวประมง ในการร่วมบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศ พร้อมให้ความสำคัญกับการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวประมงเป็นอันดับแรกเสมอ” อธิบดีกรมประมง กล่าวในที่สุด