วันนี้ (24 เมษายน 2564) ได้เดินทางไปที่ สวนไม้เมืองนนท์ ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ หรือสวนสมเด็จย่าของชาวไทย ที่นั่นเขามี “โครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์” จัดทำขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนท์ จำนวน 60 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ไหน ลักษณะประจำพันธุ์เป็นอย่างไร คืบหน้าอย่างไร ตรวจสอบได้ที่ https://www.pakkretcity.go.th/duriannon/) ภายใต้วิถีชาวสวนนนท์ด้วยการจำลองพื้นที่สวนนนท์ ยกร่อง ปลูกไม้แซม สืบค้นกล้าพันธุ์ทุเรียนนนท์มาอนุรักษ์ ภายใต้ภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ รวบรวมเป็นข้อมูลองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทุเรียนนนท์จากพื้นที่จริง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา ค้นคว้า และปรับปรุงวิธีการในการปลูกทุเรียนนนท์พันธุ์ต่างๆ ได้ต่อไป
จากการศึกษาข้อมูลพบว่าน่าสนใจมากๆ บวกกับข่าวที่ว่าเมื่อเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 จังหวัดนนทบุรี โดยนายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายวิชัย บรรดาศักดิ์นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด ผู้ดูแล สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์นนทบุรี พร้อมปราชญ์ทุเรียนและคณะทำงานโครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ ได้ถือฤกษ์วันพืชมงคล ดำเนินการตัดทุเรียน 3 ผลแรกของโครงการ เมื่อเวลา 6.58 น. ทุเรียนทั้ง 3 ผล ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ลวงหางสิงห์ 1 ผล และทุเรียนพันธุ์กบแม่เฒ่า 2 ผล น้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม
และเนื่องจากโครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ เป็นโครงการในพระราชปรารภของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดนนทบุรีจึงนำทุเรียน 3 ลูกแรกของโครงการขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในวาระนี้ด้วย และโครงการนี้พระองค์ท่านทรงเสด็จมาเปิดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558
จากข่าวนี้เองจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ออกเดินทางลุยเดี่ยว เพื่อไปดูว่าทุเรียนเมืองนนท์ที่ปลูกว่าปีนี้ได้ผลเป็นอย่างไร เพราะนี้ก็ใกล้วันที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันตัดของปีที่แล้ว ปรากฏว่าเมื่อไปถึงก็ติดต่อสอบถามจากรปภ.ก่อนเลย ทราบว่าตรงส่วนที่ปลูกทุเรียนไม่สามารถให้เข้าได้ ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ แต่ก็เดินไปดูรอบๆได้ ไหนๆก็มาแล้วไม่ให้เสียเที่ยวก็เดินไปไกลหน่อยถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว
พอไปถึงก็จัดแจงถ่ายรูปเท่าที่สามารถทำได้ และก่อนกลับเจอพี่ที่ดูแลสวนบอกว่าดูแลทุเรียนยากมาก ต้องดูแลเอาใจใส่เหมือนดูแลลูก ตอนนี้มีหลายต้นที่ออกลูกโตมากๆแล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจว่าจะตัดวันไหนต้องถามจากเจ้าหน้าที่อีกคน
เมื่อไม่สามารถถ่ายรูปต้นทุเรียนและลูกปัจจุบันได้จึงขอนำภาพของปีที่แล้ว (ภาพจากเว็บไซต์เทศบาลนครปากเกร็ด https://www.pakkretcity.go.th/index.php/page-public-relations/2738-news3023.html) ที่กำลังตัดมาให้ดูชมไปพลางๆก่อน บวกกับภาพที่ถ่ายวันนี้เป็นบริเวณโดยรอบและหากมีความคืบหน้าเรื่องตัดทุเรียนหรือข้อมูลความก้าวหน้าเมื่อไรวันไหนจะนำมาบอกกล่าวกันอีกครั้ง
อนึ่ง “โครงการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์” ตั้งอยู่พื้นที่ 7 ไร่ ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี โดยมีเทศบาลนครปากเกร็ดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 ส่วนลานทรงปลูก กำหนดให้มีพื้นที่ทรงปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองนนท์ จำนวน 3 ต้น บริเวณด้านหน้าโครงการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์สวนทุเรียนนนท์ และร่วมโครงการในการสร้างศูนย์เรียนรู้วิถีและภูมิปัญญาชาวสวนนนท์ ที่จะจัดทำขึ้นในพื้นที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ นนทบุรี
ส่วนที่ 2 ส่วนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เรือนไทย พื้นที่ประมาณ 300 ตร.ม. ในลักษณะศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นส่วนจัดแสดงวิถีและภูมิปัญญาชาวสวนนนท์ พระราชประวัติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พันธุ์ไม้ประจำของสวนสมเด็จฯ ทั้ง 12 สวน โดยเทศบาลนครปากเกร็ดเป็นผู้ดำเนินการออกแบบ และจัดทำผังรายละเอียดโครงการ
ส่วนที่ 3 ส่วนสวนทุเรียนนนท์ พื้นที่ประมาณ 3 ไร่เศษ ดำเนินการถมดินในสวนสมเด็จฯ โดยใช้ดินจากสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีพร้อมจัดทำเป็นร่องสวน กำหนดพื้นที่ในการปลูกทุเรียน ทองหลาง มังคุดและไม้พื้นเมือง จัดทำระบบระบายน้ำ ร่องสวน เพื่อสร้างสวนให้มีลักษณะของสวนทุเรียนนนท์
สำหรับ “เกษตรก้าวไกล” มีโครงการลุยเกษตรสุดเขตไทย ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 เป็นการพัฒนาต่อยอดจากโครงการเกษตรคือประเทศไทย ในปีที่ 2 นี้มีความมุ่งมั่นจั้งใจว่าจะออกเดินทางตามหาสุดยอดทุเรียนพื้นเมืองหรือทุเรียนพื้นบ้านทั่วประเทศ ระหว่างนี้อยู่ในช่วงการจัดเตรียมวางแผนการเดินทางและศึกษาข้อมูลต่างๆ หากทุกอย่างลงตัวก็จะลุยตามหาในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564