คณะนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Prof. Henrik Balslev มหาวิทยาลัยออร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก (Aarhus University, Denmark) ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในเอเซีย Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev ชื่อภาษาไทยว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธานพืชให้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand Project)
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในเอเซียว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา ผู้ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการพัฒนากําลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย) สํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก และ ได้ทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) รหัสโครงการ 3.1-61.61 และ The Carlsberg Foundation ประเทศเดนมาร์ก
“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” อยู่ในวงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยประดู่ (Leguminosae, Papilionoideae) เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นพันเลื้อย หูใบรูปไข่หรือรูปรีกว้าง ติดทน ใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบปลายรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปไข่กว้าง กว้าง 1.5-4.5 ซม. ยาว 3.5-8 ซม. ปลายแหลมและมีติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบ ใบย่อยคู่ข้างรูปไข่หรือรูปใบหอก ไม่สมมาตร ปลายแหลมและมีติ่งแหลม โคนมนกลม มน หรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบเรียบ ช่อดอกคล้ายช่อกระจะ ดอกรูปดอกถั่ว สีม่วงเข้ม เมื่อแห้งสีม่วงแกมสีดำ กลีบดอกมีก้านกลีบ กลีบกลางรูปเกือบกลม ปลายเว้าตื้น มีรยางค์ 2 รยางค์อยู่บริเวณกลางกลีบ กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ ปลายเว้าตื้น มีรยางค์ 1 รยางค์อยู่บริเวณใกล้โคนกลีบ กลีบคู่ล่างรูปขอบขนาน ปลายตัด เกสรเพศผู้ 10 เกสร เชื่อมติดสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี 9 เกสร อีกกลุ่มหนึ่งมี 1 เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปแถบ สีเขียวอ่อน มีขน ก้านยอดเกสรเพศเมียแบน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม มีขนยาว ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝัก แบน รูปขอบขนาน กว้าง 6-8 มม. ยาว 5-7.5 ซม. เมล็ดแบน รูปรีหรือรูปขอบขนาน
“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” มักระบุชนิดผิดเป็น “ถั่วเพรียว” Dolichos tenuicaulis (Baker) Craib เนื่องจากมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์หลายอย่างคล้ายกัน โดยเฉพาะเมื่อเป็นตัวอย่างพรรณไม้แห้ง จากการศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์และเทียบเคียงกับตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ (type specimens) อย่างละเอียดแล้วพบว่า “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” มีลักษณะเด่นคือ ลำต้นและใบมีขนหนาแน่น หูใบรูปไข่หรือรูปรีกว้าง กลีบดอกสีม่วงเข้ม เมื่อแห้งสีม่วงแกมสีดำ ซึ่งแตกต่างจาก “ถั่วเพรียว” ที่ลำต้นและใบมีขนประปราย หูใบรูปใบหอก รูปรี หรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม สีดอกสีชมพูแกมสีม่วงหรือสีชมพูอ่อน เมื่อแห้งสีเหลือง นอกจากนี้พืชทั้ง 2 ชนิดยังมีความยาวช่อดอก ก้านผลย่อย ขนาดของหูใบ หูใบย่อย ใบประดับ กลีบกลาง กลีบคู่ข้าง และกลีบคู่ล่างแตกต่างกันด้วย
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ยังกล่าวอีกว่า คำระบุชนิด “kongkandae” และชื่อไทย “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” นั้น ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ ดร.ก่องกานดา ชยามฤต ผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ ผู้มีคุณูปการต่องานทางพฤกษศาสตร์ไทย อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของ ดร.รัมภ์รดา มีบุญญา“ แหล่งที่พบ ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” คือบริเวณพื้นที่เปิดโล่งหรือเขาหินปูนในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง 550-2,150 ม. นอกจากพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวแล้ว ยังพบได้ที่อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ในต่างประเทศพบที่ภูฏาน อินเดีย เมียนมา จีน และลาว ออกดอกและเป็นผลเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม
ผลงานการค้นพบพืชชนิดใหม่ ของโลก นับเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่มีคุณค่าทางวิชาการ เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนและการวิจัยที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ทางอนุกรมวิธานพืชให้โครงการพรรณพฤกษชาติของประเทศไทย (Flora of Thailand Project) ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก มาแล้วจำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ช้างงาเอก (Garcinia nuntasaenii Ngerns. & Suddee) วงศ์ Clusiaceae (Guttiferae) เอื้องเทียนปากสีน้ำตาล (Coelogyne phuhinrongklaensis Ngerns. & Tippayasri) วงศ์ Orchidaceae ทังใบขนภูวัว (Litsea phuwuaensis Ngerns.) วงศ์ Lauraceae และล่าสุด คือ “ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev อยู่ในวงศ์ถั่ว วงศ์ย่อยประดู่ (Leguminosae, Papilionoideae)
“ถั่วดอยดอกม่วงก่องกานดา” Dolichos kongkandae R. Meeboonya, Ngerns. & Balslev ตีพิมพ์
ในวารสาร PhytoKeys 175: 55–65. เรื่อง Dolichos kongkandae sp. nov. and lectotypification of
D. fragrans (Leguminosae, Papilionoideae) from Asia ตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ เก็บโดย รัมภ์รดา มีบุญญา และ พีรนันท์ ยอดบ่อพลับ (R. Meeboonya & P. Yodboplub 406) ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าขุนห้วยแม่กอก (เด่นหญ้าขัด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560
(ข่าวโดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์/ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 1 เมษายน 2564)