นายกฤษฎา ศรีเพิ่มพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า นอกเหนือจากภารกิจในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกรรม การสาธารณูปโภค การอุตสาหกรรม การคมนาคมทางน้ำ การพลังงานและการรักษาระบบนิเวศน์แล้ว การดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะ ภาวะภัยแล้ง และอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ถือเป็นอีกภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย 12 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา 5 โครงการชลประทานจังหวัด คือ ชัยนาท อุทัยธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี โดยได้มีการเตรียมแผนงานรองรับสถานการณ์ บุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือต่าง ๆ ไว้อย่างพร้อมเพียง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ต้องประสบปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ
“ขอเรียนว่า สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท มีความพร้อมในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น 24 ชั่วโมง และทุกปัญหาที่เป็นความเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ทั้งที่เป็นปัญหาที่มีการร้องขอเข้ามาโดยตรงที่สำนักงานชลประทานที่ 12 หรือผ่านทางสายด่วนชลประทาน 1460”
นายกฤษฎา กล่าวต่อไปว่า สำหรับในการเตรียมการเพื่อรับมือภัยธรรมชาติต่าง ๆนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านน้ำ จะมีการประชุมกันทุกวันจันทร์ผ่านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะหรือ SWOC มีการรายงาน สภาพการณ์ต่าง ไม่ว่า ทางสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก สถานการณ์น้ำของแต่ละพื้นที่ ปัยหาที่เกิดขึ้นและการเข้าไปแก้ไขปัญหา ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 12 จะมีการเข้าร่วมและนำเสนอสถานการณ์ รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตลอด และหากมีข้อมูลถึงสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบจากการประชุมจะถูกนำประเมินและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไขทันที
นายกฤษฎา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยการทำงานแบบบูรณาการของทุกหน่วยงานจึงทำให้เรามีข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ การเฝ้าระวังสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะสะท้อนกลับมายังพื้นที่ อย่างในเรื่องเกี่ยวกับภัยแล้งของปี 2564 กรมชลประทานได้มีการประเมินสถานการณ์แล้วว่า ปี 2564 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศจะประสบปัญหาภัยแล้งแน่นอนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา จากการประเมินดังกล่าว จึงถูกนำมาสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรองรับสถานการณ์ ดังนั้นในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 12 เกษตรกรและประชาชนจะได้รับทราบข้อมูลและมีการเตรียมการรับมือกันมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ฤดูแล้ง ทั้งจากการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ และการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ไปสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือร่วมกัน เช่น การงดการทำนาปรังต่อเนื่อง รวมถึงการจัดสรรน้ำในลำน้ำสำคัญต่าง ๆ เช่น แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอไม่ขาดแคลนในด้านการน้ำกินน้ำใช้”
สำหรับในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะชาวสวนผลไม้ ซึ่งส่วนมากจะมีพื้นที่อยู่บริเวณปลายคลองส่งน้ำ ในช่วงที่ต้องประสบภาวะภัยแล้งนั้น บางครั้งจะพบว่า ปริมาณน้ำชลประทานที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการสูบน้ำขึ้นไปใช้ระหว่างการส่งน้ำ ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ จึงได้จัดระบบการส่งน้ำที่เรียกว่า การส่งน้ำเป็นรอบเวร ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้มีปริมาณน้ำเพียงพอกับการให้น้ำแก่ต้นไม้ผลที่ปลูก
“ส่วนในฤดูฝนของปีนี้ ซึ่งจากกการประเมินสถานการณ์คาดว่า ฝนจะตกเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ได้มีการวางแผนเตรียมการเพื่อการจัดสรรน้ำ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฝนทิ้งช่วงไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับช่วงต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ดังนั้นหากพื้นที่ไหนในเขตรับผิดชอบหากประสบกับภาวะฝนทิ้งช่วงพร้อมที่จะจัดสรรน้ำเข้าไปสู่พื้นที่ได้ทันที” นายกฤษฎา กล่าวในที่สุด