เฉลิมชัยสั่งเกษตรฯ ผนึกพาณิชย์จับมือขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ใน 4 กลุ่มสินค้าเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพิ่มความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับให้โดนใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการย่อย 4 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้มีความเชื่อมโยงกัน โดยฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน เข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อใช้วางแผนการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” โดยตั้งเป้าหมายหลักเพื่อให้เกิดการซื้อขายสินค้าเกษตรมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยและการตรวจสอบย้อนกลับ ตั้งเป้ายกระดับสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปสู่ระดับมาตรฐานพื้นฐานตามที่ตลาดต้องการ 4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด วางแนวทางพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร รวมถึงพัฒนาหลักสูตรให้แก่บุคลากร ตอบโจทย์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งแต่ละคณะได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนดังกล่าว และมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามความคืบหน้าพร้อมรายงานให้คณะอนุกรรมการฯ ทราบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางขยายผลสู่การปฏิบัติจริงต่อไป
ด้านนายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด ได้กำหนดจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ จำนวน 4 คณะ ใน 4 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย สินค้าข้าว พืชไร่ และพืชสวน สินค้าผลไม้ สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง โดยคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว พืชไร่ และพืชสวน เห็นชอบกำหนดกลุ่มสินค้าเป้าหมาย จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ สินค้าข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา โดยกำหนดสินค้าข้าว และมันสำปะหลังเป็นสินค้านำร่อง (Quick win) ในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนดังกล่าว เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ มีความชัดเจนเห็นเป็นรูปธรรมได้ในระยะเวลาไม่นานเกินไป ส่วนการกำหนดแนวทางการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดในสินค้ากลุ่มนี้ได้วางเป้าหมายไว้ดังนี้ 1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรทั้งด้านการผลิต และการประกอบธุรกิจ 2) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกเพื่อรองรับการค้ายุคใหม่ 3) สร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตข้าว และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ กำหนดการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด 4) สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกร 5) สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ หันมาทำการเกษตรมากขึ้น 6) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรมาผลิตเป็นสินค้านวัตกรรม 7) พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะสร้างองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น กลยุทธ์ด้านการตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ เป็นต้น
คณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าผลไม้ เห็นชอบกำหนดกลุ่มสินค้าเป้าหมาย จำนวน 4 ชนิด คือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด และลำไย โดยได้วางแนวทางการพัฒนาคนให้สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานดังนี้ 1) พัฒนาความรู้และทักษะด้านการผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การใช้เทคโนโลยีด้านการผลิต และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของทุเรียน มะม่วง มังคุด และลำไย 2) สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร 3) พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร ส่วนกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้มีแนวทางดังนี้ 1) พัฒนาความรู้และทักษะ ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปสินค้าเกษตร 2) พัฒนาความรู้และทักษะด้านการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูป 3) ส่งเสริมการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ด้านการแปรรูปทุเรียน มะม่วง มังคุด และลำไย 4) พัฒนาความรู้และทักษะให้แก่แรงงาน/บุคลากรที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร 5) พัฒนาทักษะด้านการจัดการโลจิสติกส์ภาคการเกษตร ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น ทุเรียน GI มะม่วงแช่แข็ง น้ำมังคุดพร้อมดื่ม เยลลี่มังคุด มังคุดผงฟรีซดราย พรีไบโอติกส์ และลำไยคุณภาพ
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ กำหนดให้ทุเรียนเป็นสินค้านำร่อง (Quick win) ปี 2564 – 2565 ในการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนดังกล่าว มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด (ภาคตะวันออก) เริ่มตั้งแต่ช่วงก่อนฤดูผลไม้ออกจะต้องจัดฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนทุกระดับทั้งมือตัด มือคัด สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer, Young Smart Farmer, ผู้ประกอบการ (ล้ง) สมาพันธ์ทุเรียนฯ เป็นต้น หลักสูตรที่จำเป็น ได้แก่ มาตรฐานสินค้า/ข้อกำหนดทางการค้า การบริหารจัดการสวนทุเรียน การเป็นผู้ประกอบการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายอาญา ม.271 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 เป็นต้น ส่วนช่วงติดดอก – ผล เริ่มจากการสำรวจติดตามการติดดอก ประมาณการผลผลิต ประชุมคณะทำงานจัดทำข้อมูลเอกภาพ ประชุมจัดทำข้อมูลการซื้อขาย การจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ การปฏิบัติการป้องปรามในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ทุกระดับและเน้นหนัก การแต่งตั้งชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนด้อยคุณภาพทุกระดับ พร้อมอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและการตรวจหาเปอร์เซ็นต์เนื้อแห้งทุเรียน เป็นต้น และช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะต้องตรวจสอบคุณภาพก่อนเก็บเกี่ยว เช่น พันธุ์หมอนทอง นับจากดอกบาน 120 วัน เนื้อแห้งทุเรียน 32% พันธุ์ชะนี, พวงมณี นับจากดอกบาน 110 วัน เนื้อแห้งทุเรียน 30% และพันธุ์กระดุม นับจากดอกบาน 100 วัน เนื้อแห้งทุเรียน 27% รวมถึงกระบวนการตัด และคัดทุเรียนที่มีคุณภาพ
คณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าปศุสัตว์ เห็นชอบกำหนดกลุ่มสินค้าเป้าหมาย จำนวน 6 ชนิด คือ นมโค เนื้อโค เนื้อสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และเนื้อแพะ โดยได้วางแนวทางการพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่สามารถผลิตสินค้ามีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ให้มีมูลค่าเพิ่มและตรงตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การวิจัยพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพสายพันธุ์ ระบบการเลี้ยง ระบบการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตนมโค เนื้อโค เนื้อสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และเนื้อแพะ การพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโลจิสติกส์ การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตรวมทั้งผลพลอยได้โดยการแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ สร้างตราสินค้า (Branding) ชุมชน และบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เป็นต้น
คณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์สินค้าประมง เห็นชอบกำหนดกลุ่มสินค้าเป้าหมาย จำนวน 2 ชนิด คือ กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม โดยแนวทางการพัฒนาเริ่มจากต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น สร้างกลไกการเชื่อมโยงข้อมูลความต้องการผลผลิตระหว่างผู้ผลิต ผู้แปรรูป และตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตกุ้งก้ามกรามที่นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต เพิ่มขีดความสามารถการผลิตของเกษตรกรให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตที่ระเบียบและกฎหมายกำหนด พัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการแปรรูป เพื่อทดแทนแรงงานคน การเพิ่มช่องทางตลาด ขยายตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น สำหรับเป้าหมายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งและผลผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP กรมประมงและปลอดภัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องมีประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งมีความรู้ด้านการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต เพื่อขยายโอกาสในการจำหน่าย
ทั้งนี้ มติที่ประชุมมอบหมายให้คณะทำงานฯ ปรับปรุงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยแบ่งกลุ่มคนภาคเกษตรในอนาคตของประเทศไทย ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง/กลุ่มพื้นฐาน/กลุ่มอนุรักษ์ 2) กลุ่มคนที่ทำเกษตรแปรรูป 3) กลุ่มผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร/ผู้บริโภค และ 4) กลุ่มนักวิชาการ ภาคประชาสังคม (NGO) เพื่อจัดทำแผนพัฒนากำลังคนภาคเกษตรในอนาคตต่อไป