เมื่อวันที่ 19 เมษายน เวลา 18:09 น. นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวใช้ชื่อ..“พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ” “เป็นข้าราชการกินเงินเดือนที่มาจากเงินภาษีของชาวบ้าน พึงระลึกเสมอว่า ต้องทำงานเพื่อชาวบ้าน” เรื่องการการกำหนดพื้นที่เหมาะสมในการปลูกกัญชงว่า “กรมวิชาการเกษตรร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ได้กำหนด Zoning พื้นที่สำหรับปลูกกัญชง ออกมาสำหรับเป็นข้อมูลในเบื้องต้นแล้วครับ ในภาพรวมเป็นพื้นที่เหมาะสมสูง (S1)จำนวน 6.69 ล้านไร่ พื้นที่เหมาะสมปานกลาง(S2) จำนวน 38.22 ล้านไร่ สำหรับรายละเอียดในรายพื้นที่จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปครับ”
เพียงข้อความเท่านี้กับภาพแผนที่ประเทศไทยที่กำหนด Zoning หรือพื้นที่ที่เหมาะสมกับการการปลูกกัญชง จำนวน 5 ภาพ ก็มีคนกดไลท์ 318 คน แสดงความคิดเห็น 17 รายการ แชร์ 81 ครั้ง ตัวอย่างความคิดเห็นส่วนใหญ่จะแสดงถึงพื้นที่ของตนว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ แต่ก็มีความคิดเห็นส่วนหนึ่งที่น่าจะนำมาขยายผลหรือต้องตอบให้แน่ชัด เช่น ขอทราบเป็นความรู้หน่อยครับ ใช้เกณฑ์อะไรมาวัดและตัดสินครับ”, “พื้นที่s1 ไม่น่าปลูกได้ไม่มีเอกสารสิทธิ์”, “จันทบุรี ไม่เหมาะสมกับการปลูกลำไย เช่นเดียวกัน อ.ฝาง อ.ไชยปราการ เชียงใหม่ ไม่เหมาะสมกับการปลูกส้ม (ดินแดงสวยมาก) เหมาะสมปลูกมังคุดกับเงาะ ฉะนั้น อย่าเชื่อทั้งหมดครับ” ฯลฯ
ตามรายละเอียดภาพที่กำหนดพื้นที่เหมาะสมนั้น จะแบ่งเป็น 5 ภาค คือภาคเหนือมีพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) 4,085,864 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) 1,849,768 ไร่ ภาคตะวันออก มีพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) 200 ,499 ไร่ ภาคกลางมีพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) 547,412 ไร่ ภาคใต้มีพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) 7,274 ไร่ รวมพื้นที่เหมาะสมสูง (s1) จำนวน 6.69 ล้านไร่ พื้นที่เหมาะสมปานกลาง(S2) จำนวน 38.22 ล้านไร่ (รายละเอียดเพิ่มเติมขอให้ตรวจสอบจากภาพแผนที่)
สำหรับการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดยังไม่ได้รับการตอบกลับใดๆ แต่อย่างไรก้ดีในข้อความท้ายโพสต์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้บอกไว้ว่า “…สำหรับรายละเอียดในรายพื้นที่จะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไปครับ”
อนึ่ง จากการติดตามข้อมูลของ “เกษตรก้าวไกล” พบว่าการกำหนดพื้นที่เหมาะสมสูงดังกล่าวจะเป็นการกำหนดพื้นที่เหมาะสมของพืชเศรษฐกิจตามภารกิจของกรมพัฒนาที่ดิน ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะมีการการกำหนดแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) ซึ่งกรณีของกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่อยู่ในความสนใจจึงได้กำหนด Zoning ออกมาในช่วงเวลานี้ และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรผู้สนใจปลูกจะได้รู้ว่าพื้นที่โซนไหนเหมาะสมไม่เหมาะสมเพียงใด แต่ในความเป็นจริงเทคโนโลยีการเพาะปลูกก็ได้พัฒนาไปมาก เช่น การปลูกในภาชนะ หรือปลูกในโรงเรือน เป็นต้น