ลงพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการของผู้ประกอบการที่ได้ทุนสนับสนุนจากTED Fund

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือเทคฟันด์(TED Fund) เปิดเผยว่าโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Youth Startup Fund เป็นโครงการใหม่ที่ TED Fund ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เป้าหมายเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไปสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น(Startup)และมุ่งเน้นสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศและเป็นโครงการสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยการใช้พลังเยาวชนไทยเป็นกุญแจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ พร้อมทั้งปฏิรูประบบการเรียนรู้ สร้างประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน เปิดโอกาสให้ยุวชนได้นำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ไปพัฒนาพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคใหม่ให้สามารถดำเนินธุรกิจบนฐานขององค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นตัวเรื่องสำคัญ ในการเพิ่มปริมาณการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อีกทั้งก็เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ไปสู่การเป็นประเทศฐานนวัตกรรม(Innovation Nation)โดยจะต้องแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) โดยเปลี่ยนจาก “Made in Thailand” เป็น “Innovated in Thailand” เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล (ซ้าย) และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช (ขวา)
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล (ซ้าย) และ ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช (ขวา)

ดร.ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น แบ่งโปรแกรมการสนับสนุนออกเป็น 2 โปรแกรมสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง โปรแกรม Ideation Incentive Program หรือ IDEA เป็นทุนอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อเป็นค่าพัฒนาแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ผ่าน เครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง จาก TED Fund ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ ไม่เกิน 6 เดือน โดยกองทุนจะให้การสนับสนุนทุน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ในสัดส่วนร้อยละ 100

สอง โปรแกรม Prove of Concept  หรือ POC แบ่งออกเป็น 3 โปรแกรมย่อย สำหรับ ผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

  • Incubator Incentive Program : ทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อพัฒนาต้นแบบ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านธุรกิจ ผ่านเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (Certified Incubator) ที่ได้รับการรับรองซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ ไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนฯ จะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ วงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท
  • University Seed Grant Program :  ทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อพัฒนาต้นแบบ  ซึ่งเป็นการพิสูจน์ความคิดใหม่ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านธุรกิจ ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนิน  โครงการไม่เกิน 2 ปี โดยกองทุนจะให้การสนับสนุนทุนไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่า โครงการทั้งนี้วงเงินไม่เกิน 750,000 บาท
  • Innovation Lab Program :  ทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อนำไปซื้อบริการ ด้านการทดสอบวิจัยของสถาบันการศึกษาหรือ สถาบันวิจัย ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการ  ไม่เกิน 1 ปี โดยกองทุนจะให้การสนับสนุนทุน ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าโครงการ ทั้งนี้ วงเงินม่เกิน 500,000 บาท
ตรวจเยี่ยมความสำเร็จในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กับนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกใหม่จากจิ้งหรีด
ตรวจเยี่ยมความสำเร็จในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กับนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกใหม่จากจิ้งหรีด

ด้าน ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) กล่าวว่า ผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและเป็นนักศึกษาซึ่งมีสัญชาติไทยและอยู่ระหว่างการศึกษาใน สถาบันการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก หรือจบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 5 ปี ซึ่งต้องผ่านการเข้าร่วมกับเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจาก TED Fund ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 34 แห่ง

ที่สำคัญอีกประการ เป็นผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศไทย โดยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 51 โดยผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคนต้องเป็นนักศึกษาของสถาบันการศึกษาภายในประเทศไทยหรือนักศึกษาที่จบการศึกษาภายใน 5 ปีนับจนถึงวันที่มาขอรับการสนับสนุนทุน และมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในกิจการมากกว่าร้อยละ 31 และเป็นหนึ่งในกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของนิติบุคคล พร้อมกันนี้ผู้ประกอบการต้องมีแผนธุรกิจสำหรับการดำเนินโครงการ เป็นต้น

มอบโล่รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พัฒนาระบบการควบคุมประมวลผลภาพดิจิทัลทุกรูปแบบร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) ที่จังหวัดขอนแก่น
มอบโล่รางวัลให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ พัฒนาระบบการควบคุมประมวลผลภาพดิจิทัลทุกรูปแบบร่วมกับอากาศยานไร้คนขับ(โดรน) ที่จังหวัดขอนแก่น

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า การผลักดันให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมใหม่ในประเทศเพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของคนในสังคมนั้น นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ และเพื่อให้ได้นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศ และ ตอบรับการนโยบายของรัฐบาล TED Fund จึงเน้นให้การสนับสนุนทุนไปที่กลุ่มอุตสาหกรรม BIO Economyและอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)

“รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครทุนได้ที่ www.tedfund.mhesi.go.th หรือเพจ Facebook : TED Fund หรือโทร 02 – 333 -3700 ต่อ 4072 – 4074 ” ดร.ชาญวิทย์ กล่าวในที่สุด

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated