“ไทย” เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมใหญ่ “ทูน่าโลก ครั้งที่ 16” จับมือทั่วโลกฝ่าวิกฤตโควิด - 19 เดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกสู่ความยั่งยืน
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวเปิดการประชุมและจัดแสดงสินค้า “ทูน่าโลก ครั้งที่ 16”

กรมประมง เผย INFOFISH ร่วมกับประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและจัดแสดงสินค้า “ทูน่าโลก ครั้งที่ 16” (The Sixteenth INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition  – Virtual) หรือ “INFOFISH TUNA 2021” ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2564 นี้ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก ทาง www.tuna2021.vfairs.com ใน Theme “การก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก (โควิด – 19) ของอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลก” (The Global Tuna Industry: Trailblazing through Tough Times) คาดมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 600 ราย หวังผู้เกี่ยวข้องจากภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแบ่งปันองค์ความรู้ต่าง ๆ ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาทางธุรกิจ พร้อมร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤตโควิด – 19 เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกสู่ความยั่งยืน

วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวเปิดการประชุมและจัดแสดงสินค้า “ทูน่าโลก ครั้งที่ 16” (The Sixteenth INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition – Virtual) หรือ “INFOFISH TUNA 2021” ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ทาง www.tuna2021.vfairs.com“ไทย” เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุมใหญ่ “ทูน่าโลก ครั้งที่ 16”

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลาทูน่า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีห่วงโซ่คุณค่าทางการค้าสูง อีกทั้งตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ในปี 2020 มีรายงานว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของโลก อยู่ที่ประมาณ 3,042,000 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 14.20 % จากปี 2015 และการประมงปลาทูน่าเชิงพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Blue economy) ซึ่งปลาทูน่ากระป๋องหรือปลาทูน่าดิบ (ซาชิมิ) ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่มีความต้องการสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งโปรตีนที่สําคัญของโลก และทูน่ายังมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่น ที่เกื้อกูลวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวประมงพื้นบ้าน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมปลาทูน่ากําลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของปลาทูน่า และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าว่าไม่ได้มาจากการประมง IUU และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นไปเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่าของโลก

สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าที่มีคุณภาพให้กับตลาดโลก ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่า ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยการสร้างระบบการควบคุม และระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบแหล่งที่มาของปลาทูน่าว่ามาจากการทำประมงที่ถูกต้องและได้มาตรฐานสากล และขอสนับสนุนให้ทุกประเทศและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการ เพื่อให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และสนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14)

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสําหรับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาทูน่า ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในระหว่างการประชุมฯ ซึ่งนําไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันของอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด – 19 เพื่อร่วมกันก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลําบากไปด้วยกัน และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลก เชื่อว่าการประชุมนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ และบรรลุเป้าหมายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน จากผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากทั่วโลก

นายมีศักดิ์ ภักดีคง
นายมีศักดิ์ ภักดีคง

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประชุมและจัดแสดงสินค้า INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition – Virtual ครั้งที่ 16 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง INFOFISH ร่วมกับกรมประมง (DOF) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าเขตร้อนทวีปอเมริกา (IATTC) และคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและตอนกลาง (WCPFC) กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี และประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมมาแล้ว 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมุ่งหวังที่จะให้งานดังกล่าวเป็นการประชุมทางด้านวิชาการและการค้าปลาทูน่าของโลกที่ใหญ่ที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรมปลาทูน่าอย่างรอบด้าน อาทิ ความรู้ทางวิชาการ สภาวะทรัพยากรปลาทูน่าทั่วโลก การบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ การค้าและการตลาด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในเชิงธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในงาน อันจะยังประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืนของปลาทูน่า

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหลาย ในภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระจากทั่วโลก ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปลาทูน่าตลอดห่วงโซ่สินค้าปลาทูน่า ภายใต้การจัดการทรัพยากรปลาทูน่าอย่างยั่งยืนต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated