นางสาวศิริพร จูประจักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 ราชบุรี (สศท.10) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม “กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางช้าง” ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นับเป็นตัวอย่างของการรวมกลุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ยกระดับคุณภาพผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม โดยเกษตรกรได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต พัฒนาเป็น Smart farmer และการรวมกลุ่มเพื่อผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ จึงสร้างความมั่นใจกับผู้ค้าและผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตได้มาตรฐานและมีคุณภาพ
จากการติดตามของ สศท.10 พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางช้าง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 มีพื้นที่ปลูก 375 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 37 ราย โดยมีนายวชิรวิชย์ มีดี เป็นประธานกลุ่ม เกษตรกรนิยมปลูกมะพร้าวพันธุ์ก้นจีบ (มะพร้าวน้ำหอมสามพราน) มีลักษณะเด่นคือ เป็นพันธุ์ที่มีผลใหญ่ ให้ผลผลิตสม่ำเสมอ น้ำของผลมีความหวาน ให้ผลผลิต หลังปลูกเพียง 3 ปี และเป็นที่ต้องการของตลาดประเทศจีน ในส่วนของต้นพันธุ์เกษตรกรส่วนใหญ่จะเพาะพันธุ์มะพร้าวเอง โดยการคัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีคุณภาพให้ผลผลิตสูงและยังนำลูกไปเพาะพันธุ์เป็นต้นกล้าสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสูงมากเช่นเดียวกัน เพราะมียอดการสั่งจองล่วงหน้า 5 – 6 เดือน ราคาต้นละ 80 – 150 บาท
สถานการณ์การผลิตมะพร้าวน้ำหอมของกลุ่มฯ มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 42,626 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้ถึง 15 – 17 ปี) นิยมปลูกช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม ในรอบ 1 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 18 ครั้ง(เฉลี่ยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุก 20 วัน) ผลผลิตจะออกตลาดชุกช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ผลผลิตรวมประมาณ 3,331 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 8,883 กิโลกรัม/ไร่/ปี (น้ำหนักประมาณ 700 – 1,400 กรัม/ผล) ผลตอบแทนเฉลี่ย 128,797บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 86,171 บาท/ไร่/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ 24 พฤษภาคม 2564 เฉลี่ย 23 บาท/ผล ทั้งนี้ หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มฯ จะได้กำไร 32 ล้านบาท/ปี ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ส่งจำหน่ายพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะมารับซื้อผลผลิตถึงสวน รองลงมาร้อยละ 20 ส่งจำหน่าย บริษัท โรงงานมาลี สามพราน จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอม 100% ส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนที่เหลือ อีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น ซึ่งผู้รับซื้อจะมาตัดมะพร้าวเองที่สวน
ผลสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางช้างเกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มผลิตมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และอินทรีย์ โดยการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด เน้นตลาดนำการผลิต มีการเชื่อมโยงตลาดหรือมีข้อตกลงซื้อขายผลผลิตล่วงหน้า มีตลาดกลางสินค้าเกษตร ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสร้างรายได้ให้เกษตกรอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ทางกลุ่มฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินนครปฐม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นครปฐม โครงการชลประทานนครปฐม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครปฐม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้องค์ความรู้ด้านการผลิต การบริหารจัดการกลุ่มฯ ตลอดจนการจัดการด้านตลาด โดยในส่วนของ สศก. ได้มีการติดตามประเมินผลโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 – 2561 พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการส่งเสริมสนับสนุนตามโครงการฯ เนื่องจากได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 80 รองลงมาร้อยละ 72 การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ตรงกับความต้องการของตลาด รองลงมาร้อยละ 68 การเพิ่มผลผลิต และร้อยละ 66 สามารถลดต้นทุนการผลิตได้
ผู้อำนวยการ สศท.10 กล่าวทิ้งท้ายว่า การผลิตมะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ GAP สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งถ้าเกษตรกรได้จัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการทั้งระบบร่วมกันตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย จนถึงผู้บริโภค แล้วมีตลาดรองรับแน่นอน หากเกษตรกรหรือท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตมะพร้าวน้ำหอม สามารถขอคำปรึกษา นายวชิรวิชย์ มีดี ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางช้าง หมู่ที่ 5 ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หรือโทร 09 6096 6522 และสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.10 ราชบุรี โทร. 0 3233 7951 หรืออีเมล์ zone10@oae.go.th