ม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์ สร้างรายได้เสริมยุคโควิด-19
ม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์ สร้างรายได้เสริมยุคโควิด-19

ในอดีต…วัด…เป็นศูนย์กลางของชาวบ้าน ทำหน้าที่เป็นโรงเรียน โรงพยาบาล จัดงานเทศกาลสืบสานวัฒนธรรม บางครั้งเป็นห้องประชุมของชาวบ้าน บางครั้งยังทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และอีกมากมาย เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน มีองค์กรทางสังคมเข้ามาทำหน้าที่เหล่านี้อย่างเป็นระบบ บทบาทของวัดคงเหลือเพียงการเรียนรู้ด้านจิตวิญญาณและการขัดเกลากิเลส อันเป็นหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาที่ยัง ไม่มีองค์กรใดจะสามารถเข้ามาแทนที่ได้ แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าผู้คนจำนวนมากห่างไกลวัดออกไป ทุกที เราจึงเห็นว่าจากเดิมที่คนเดินเข้าวัด กลายเป็นวัดที่มีการปรับตัวเข้าหาผู้คนมากขึ้น    ม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์

วัดตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ยังคงเป็นศูนย์กลางของชาวบ้านที่มีผู้คนแวะเวียนเข้าวัด ด้วยเพราะพื้นที่นี้มักเป็นที่เริ่มต้นของความคิดสำคัญๆ ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชาวบ้านเสมอ…บริเวณเนินควนห่างจากวัดไม่มาก พระครูสุนทรกิจจานุโยค เจ้าอาวาสวัดตะโหมด ชี้ชวนให้ชมโรงเรือนขนาดเล็กที่มีเมล่อนเรียงเป็นแถวสวยงาม ท่านชวนคุยถึงสถานการณ์โควิดที่ทำให้การทำมาหากินยากลำบาก ชาวบ้านรายได้น้อยลง จึงคิดทดลองปลูกเมล่อนซึ่งเป็นพืชที่มีราคาสูง ใช้พื้นที่ไม่มากก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มให้ครัวเรือนได้ โรงเรือนแห่งนี้ตั้งใจทำให้ชาวบ้านดูเป็นตัวอย่าง เป็นโรงเรือนระบบปิดอย่างง่ายที่ใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ถ่ายทอดให้กลุ่มเกษตรกรทำนาอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ท่านเห็นว่าหากนำไปให้ชาวบ้านนอกเหนือจากกลุ่มทำนาก็จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างยิ่งขึ้นม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์

“วัดไม่ได้เน้นเชิงเศรษฐกิจ แต่ต้องการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์ตามนโยบายของจังหวัด คนในชุมชนจะได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย เราทำแบบพอเพียงเน้นบริโภค ที่เหลือเป็นรายได้เสริม ที่ต้องทำให้ดูเพราะถ้าเขาไม่เห็นความสำเร็จเขาจะไม่กล้า เมื่อชาวบ้านเห็นว่าวัดก็ยังปลูกได้ อาศัยพระลูกวัดช่วยกันดูแล จนเป็นผลสำเร็จอย่างที่เห็น ชาวบ้านจะได้มั่นใจ โรงเรือนนี้ได้พัฒนาชุมชนมาช่วย ใช้ทุนไม่มาก แต่หากชาวบ้านไม่มีทุน ขอให้คิดจะทำ วัดยินดีสนับสนุน จะให้ปลูกในพื้นที่แปลงรวมที่จัดให้” พระครูสุนทรกิจจานุโยคกล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจปลูกเมล่อน ทางวัดแนะนำว่าหลังจากเพาะเมล็ดประมาณ 15 วันเมื่อเริ่มมีดอกต้องผสมเกสร ถ้าเลยเวลาไปก็อาจไม่ติดผล วัดตะโหมดใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณพัฒนาขึ้น และได้รับคำแนะนำเรื่องโรคและแมลง และการจัดการในแปลง การปลูกในโรงเรือนทำให้ปลูกเมล่อนได้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องกังวลเรื่องฝนฟ้า อากาศ และยังช่วยลดการรบกวนของแมลงศัตรูพืช แต่ถึงอย่างไรเมล่อนก็เป็นพืชที่ต้องอาศัยการเอาใจใส่และดูแลเป็นพิเศษ ที่วัดปลูกก็ต้องคอยระวังโรคราน้ำค้าง และโรคเหี่ยวในเมล่อน ใช้เวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดประมาณ 75-80 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ทุกวันนี้เริ่มมีเกษตรกรที่สนใจเข้ามาถามไถ่ ขอเรียนรู้วิธีการปลูก วัดตะโหมดยินดีที่ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เสริมสร้างปัญญาให้แก่ชาวบ้าน เป็นข้อพิสูจน์ว่าวัดซึ่งแหล่งถ่ายทอดความรู้และพัฒนาคนมาตั้งแต่ยุคอดีตนั้น สามารถปรับบทบาทให้ตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้คน และไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร วัดก็คงยังเป็นที่พึ่งของชุมชนได้เสมอม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์

“สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ต้องขอบคุณวัดตะโหมด และชาวชุมชนตะโหมด ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนสามารถพึ่งพิงตนเองได้มากขึ้น ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนตะโหมด คือ ห้องเรียนที่มีชีวิต ซึ่งนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณได้มีโอกาสไปเรียนรู้รุ่นแล้วรุ่นเล่า นิสิตได้โอกาสก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปเรียนรู้กับครูภูมิปัญญาชุมชน ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่เรียนรู้จริง องค์ความรู้ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณ ตระหนักว่าความมุ่งมั่นที่จะทำตามพันธกิจ “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” นั้นเราได้เดินมาถูกทางแล้ว และเราต้องทำให้มากยิ่งขึ้นไปอีก” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรไทย ศิริสาธิตกิจ รักษาแทนผู้อำนวยการ สถาบันปฏิบัติการชุมชนเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ กล่าวม.ทักษิณหนุนวัดตะโหมด ส่งเสริมเกษตรกรปลูกเมล่อนอินทรีย์

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated