สสก.3จ.ระยอง เตรียมความพร้อมเกษตรกรดูแลจัดการแปลงผลไม้อย่างถูกวิธีในภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ระดม นักวิชาการ นักวิจัย และนักการเกษตร ติวเข้มสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ถ่ายทอดความรู้การจัดการแปลงปลูกอย่างถูกวิธี เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ภาคตะวันออกให้ดีมีคุณภาพสืบเนื่องต่อไป
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก. 3 จ.ระยอง ) เปิดเผยถึงขบวนการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพื้นที่ภาคตะวันออกว่า จากสภาพสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่ต่อเนื่อง ไม่ตรงตามฤดูกาล เกิดลมกระโชกแรงและภัยแล้งที่ยาวนานในแทบทุกปีในช่วงที่ผ่านมา เกิดผลกระทบต่อชาวสวนทุเรียนเป็นอย่างมาก
ภาคตะวันออกเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ โดยจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 600,000 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 600,000 ตัน จำหน่ายได้เฉลี่ย 100 – 150 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกประมาณร้อยละ 5 – 10 ต่อปี และมีตลาดต่างประเทศ คือ จีน รองรับ ปัจจัยสำคัญต่อการผลิตทุเรียนให้ประสบผลสำเร็จ คือ การเลือกใช้กิ่งพันธุ์ที่ดีมีมาตรฐาน ทนทานต่อโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความแปรปรวน ล้วนเข้ามากระทบต่อการผลิตและคุณภาพผลผลิต ขณะเดียวกันมีการปลูกใหม่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ปลูกที่กำลังจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ขณะที่เกษตรกรยังขาดประสบการณ์ความรู้ในการบริหารจัดการสวนให้ประสบความสำเร็จ และยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ด้านวิชาการได้อย่างทันท่วงทีอีกไม่น้อย
“สสก.3 จ.ระยอง เป็นหน่วยงานประสานการขับเคลื่อนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก จึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำองค์ความรู้การจัดการสวนทุเรียนที่เกิดความเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อม ของสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ภายใต้โครงการส่งเสริมการเพิ่มสิทธิภาพและพัฒนาการผลิตทุเรียนภาคตะวันออกทั้งระบบขึ้น เพื่อเพิ่มทักษะความรู้ผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงต่อการจัดการสวนทุเรียนทั้งระบบ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการดอกและผลทุเรียนในช่วงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหา และจัดทำองค์ความรู้นี้เผยแพร่ให้สู่เกษตรกรทั่วไปได้นำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”นายปิยะ กล่าว
ทางด้าน นางสาววรนุช สีแดง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานส่งเสริมพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้เป็นการให้ความรู้เพื่อรับกับสถานการณ์สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเกษตรกรที่ผลิตทุเรียน โดยเน้นความรู้ความเข้าใจเพื่อการเตรียมรับมือ และแนวทางป้องกันแก้ไขเมื่อเจอกับสภาพการณ์ เช่นการดูแลแปลงปลูกผลไม้ในภาวะภัยแล้ง วาตภัย และอุทกภัย ที่นับวันเกษตรกรจะประสบอย่างต่อเนื่องในทุกปี
ในที่สัมนาจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารจัดการสวนทุเรียนให้ประสบผลสำเร็จในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ตลอดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหา จากนักวิชการ ผลงานการศึกษาวิจัยและประสบการณ์ของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จกับการรับมือในช่วงที่ผ่านมา พร้อมจัดทำองค์ความรู้ด้านการผลิตและการจัดการสวนทุเรียนเผยแพร่ให้เกษตรกรได้นำไปใช้ต่อไปโดยจะจัดขึ้น 2 แห่ง ในระหว่างวันที่ 28 – 29 มิถุนายน 2564 แห่งที่ 1 ณ ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และแห่งที่ 2 ณ โรงแรมนิวแทรเวิลลอด์จ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรีโดยมีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผลระดับจังหวัด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานไม้ผลระดับอำเภอ และสมาชิกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ซึ่งทุกส่วนงานที่เข้าร่วมสัมนาฯ มาจาก 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด และจังหวัดระยอง
“ที่ผ่านมาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือ ฝนตกแบบไม่ทั่วถึง เกิดฝนทิ้งช่วง เป็นผลให้คุณภาพของทุเรียนสูญเสียไป เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนคุณภาพของเนื้อทุเรียนจะไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อฝนตกทุเรียนจะแตกใบอ่อน แล้วเกิดฝนทิ้งช่วงการจัดการธาตุอาหารภายในของพืชจึงไม่เพียงพอที่จะนำไปเลี้ยงผลทำให้เนื้อและสีไม่เข้มเหมือนสภาพอากาศปกติ ทำให้ราคาขายตกต่ำ แต่หากมีการจัดการสวนที่ถูกต้องแม้เจอภาวะเปลี่ยนแปลง เกษตรกรมีการจัดการใบตามหลักวิชการเกษตรในการบำรุงต้น ใบจะทำให้ลูกอ่อนที่ยังเหลืออยู่เจริญเติบโตมีคุณภาพที่ดีได้” นางสาววรนุช กล่าว