“อลงกรณ์” เผยสถานการณ์ราคามังคุดมีแนวโน้มดีขึ้นหลังฟื้นระบบขนส่งและไปรษณีย์ขณะที่ล้งในนครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น 146 แห่ง เริ่มรับซื้อมังคุดทำให้ตลาดเริ่มคึกคัก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (30 ก.ค.) ว่า ตามที่ ส.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอให้รัฐบาลเยียวยาชาวสวนมังคุดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ราคาตกต่ำในฤดูกาลผลิตปี 2564 ระหว่างการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน และมี นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และตนร่วมประชุมพร้อมด้วยตัวแทนภาครัฐภาคเอกชนและภาคเกษตรกร เมื่อวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น โดยตนได้ชี้แจงว่า คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุ้ทบอร์ด-Fruit Board) ยินดีรับข้อเสนอไปพิจารณา โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด (กรมส่งเสริมการเกษตร) ศึกษาและรวบรวมข้อมูลตลอดจนมาตรการเยียวยาโดยให้ยึดแนวทางการเยียวยาชาวสวนลำไยฤดูกาลผลิตปี 2563 จากนั้นให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในครั้งต่อไปโดยเร็ว และจะเสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวต่อไปว่า จากการที่ตนลงพื้นที่เพื่อติดตามเร่งรัดการแก้ไขปัญหามังคุดและผลไม้ภาคใต้ 3 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) ตามข้อสั่งการของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ภายใต้ 7 มาตรการเพิ่มเติมล่าสุดของฟรุ้ทบอร์ด ระหว่างวันที่ 28 – 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ร่วมกับ นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ โดยเฉพาะมังคุดมีราคาตกต่ำ พบว่าระบบการขนส่งผลไม้แบบบริการส่งถึงที่รวมทั้งระบบการค้าออนไลน์เกือบเป็นอัมพาตโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้ามังคุดใหญ่ที่สุดของภาคใต้เพราะผู้ให้บริการรายใหญ่ เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย บริษัทเคอร์รี่ เป็นต้น ได้หยุดให้บริการโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น ตนจึงได้ประสานขอความร่วมมือไปยัง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และนายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย เมื่อวันที่ 28 ก.ค. และภายใน 24 ชั่วโมง บริษัทไปรษณีย์ไทยได้เปิดให้บริการเป็นกรณีพิเศษเร่งด่วนอีกครั้งพร้อมกัน 105 สาขาใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.เป็นต้นไป ทำให้ระบบการขนส่ง ระบบไปรษณีย์และการค้าออนไลน์กลับมาเปิดบริการอีกครั้งหนึ่ง และวันนี้ได้ประสานกับบริษัทไปรษณีย์ไทยให้พร้อมนำส่งผู้รับปลายทางที่อยู่ในพื้นที่สีแดงทุกพื้นที่ซึ่งได้รับการยืนยันว่าจะเร่งกำชับไปรษณีย์ทุกสาขาให้ดำเนินการตามข้อเสนอและการจัดส่งอาจช้าไป 1 วัน เพราะต้องใช้สาขาปลายทางที่อยู่นอกพื้นที่สีแดงผลัดเวรกันส่งเนื่องจากก่อนหน้านี้พนักงานของสาขาในพื้นที่สีแดงติดโควิดโดยไปรษณีย์ไทยจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งตนได้ขอบคุณบริษัทไปรษณีย์ไทย และ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลฯ ที่ให้ความร่วมมือกับฟรุ้ทบอร์ดด้วยดีตลอดมา เพราะระบบขนส่งเป็นกลไกสำคัญในการค้าขายและระบายผลไม้ออกจากแหล่งผลิตทั้งการค้าแบบออฟไลน์และออนไลน์ นอกจากนี้ รมว.เกษตรฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทเคอรรี่ตกลงที่จะเปิดบริการอีกครั้งเช่นกัน ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฯ ได้ติดตามประสานงานกับ รมว.เกษตรฯ อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ฟรุ้ทบอร์ดได้คิกออฟโครงการ “เกษตรกรแฮปปี้” โดยรณรงค์ภายใต้กลยุทธ์เพิ่มการขายภายในประเทศทดแทนการส่งออกซึ่งเป็น 1 ใน 7 มาตรการใหม่ของฟรุ้ทบอร์ด ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา และขอความร่วมมือพี่น้องชาวไทยทุกคนรวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยช่วยกันสร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรด้วยการซื้อผลไม้ไทย
“ช่วงนี้ต้องเร่งช่วยระบายมังคุดคละที่สดอร่อยพร้อมจำหน่ายสู่ผู้บริโภคภายในประเทศทั้งรูปแบบการขายออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งมีปริมาณมากและราคายังไม่น่าพอใจ แม้แนวโน้มราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้นจึงได้ออกแคมเปญ “เกษตรกรแฮปปี้” ในวันนี้ ส่วนการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าผลไม้ (ล้ง) ทั้งค้าภายในและส่งออกให้ล้งมาซื้อมังคุดด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น โดยล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงานว่ามีล้งเข้ามาซื้อขายมังคุดและผลไม้เพิ่มขึ้นจาก 40 กว่าล้ง เป็น 146 ล้ง นอกจากนี้สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมังคุดแจ้งว่าสามารถจองตู้คอนเทนเนอร์ที่จะส่งออกผลไม้ทางเรือได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.ซึ่งจะทำให้ลดการขนส่งทางรถไปประเทศจีนที่แออัดติดขัดที่ด่านโหยวอี้กวนและด่านโมฮ่านมีผลทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาภาคใต้ไม่ทัน เชื่อว่าตู้คอนเทนเนอร์จะทยอยกลับมาขนมังคุดได้มากขึ้นภายในไม่กี่วันข้างหน้าจะทำให้การซื้อขายเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อราคาที่จะขยับตัวสูงขึ้น” นายอลงกรณ์ กล่าว
ด้าน นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่พบ มาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อโรคของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมังคุดและผลไม้อื่น ๆ ของไทย ที่เกิดจากปัญหาการขนส่งล่าช้า การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์และตะกร้าใส่ผลไม้ รวมทั้งปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ที่ทำได้ยาก การขาดแคลนแรงงาน และตะกร้ามีไม่พอ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้เร็วขึ้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีแนวทางมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยกระจายมังคุดในประเทศช่วงที่การส่งออกมีปัญหา ดังนี้ 1. เชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในโอนเงินให้จังหวัดดำเนินการจำนวน 50,850,000 บาท ตามที่ฟรุ้ทบอร์ดอนุมัติเพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตัน ออกนอกแหล่งผลิตอย่างเร่งด่วน 2. สนับสนุนค่าขนส่งสำหรับผลไม้ที่ส่งผ่านไปรษณีย์ กรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยสนับสนุนกล่องไปรษณีย์และสติกเกอร์ส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์แก่เกษตรกรรายย่อยจำนวน 20,000 กล่องกล่องละ 10 กก. เพื่อช่วยกระจายผลไม้ 2,000 ตัน และ 3. เชื่อมโยงผู้รับซื้อของกรมการค้าภายในให้ช่วยเร่งระบายมังคุดเกรดรองหรือตกเกรดออกจากแหล่งผลิตโดยเร่งด่วนกรณีเกิดปัญหาระบายมังคุดไม่ทันในบางพื้นที่
จากนั้น ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ ได้ร่วมเปิดบริการส่งมังคุด ณ สำนักงานไปรษณีย์ไทยสาขาพรหมคีรี ก่อนเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์รับซื้อมังคุดชนิดคละกก.ละ 20 บาท ที่อำเภอพรหมคีรีซึ่งเป็นโมเดลใหม่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการล้ง เกษตรกรในพื้นที่และศูนย์บลูเฮ้าส์ พรรคประชาธิปัตย์ในการนำล้งมาซื้อตรงจากเกษตรกรด้วยราคานำตลาด โดยจะให้ขยายโมเดลนี้ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย ต่อมา ได้เยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่ และศูนย์กระจายสินค้าบริษัทไปรษณีย์ไทยอำเภอลานสกา สำหรับ จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ปลูกมังคุดทั้งหมด 96,159 ไร่ กระจายอยู่ใน 21 อำเภอ มีพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 90,016 ไร่ ปี 2564 นี้ คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 57,245 ตัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 ก.ค. นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ตลาดกระจายสินค้าเกษตร ต.วังตะกอ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ติดตามสถานการณ์ผลไม้ในพื้นที่ และประชุมหารือกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมังคุด ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อนำผลผลิตออกสู่ตลาด จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ผลไม้ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และร่วมหารือในการแก้ไขปัญหาการกระจายผลไม้ ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ และการเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายผลผลิตโดยเฉพาะเงา พร้อมทั้งลงพื้นที่ตลาดสหกรณ์การเกษตร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งนี้ จ.ชุมพร มีปริมาณผลผลิตรวม 51,587 ตัน ช่วงปลายเดือน ก.ค. 2564 จะปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 26,985 ตัน จนถึง ปลายเดือน ส.ค. 2564 ปริมาณ 16,141 ตัน และราคาผลผลิตมังคุด ตลาดทั่วไป กก.ละ 8 – 10 บาท ราคา หน้าล้ง 33 บาท (รับซื้อเฉพาะลูกค้าประจำ) ตลาดประมูลจากกลุ่มผลิตมังคุดคุณภาพในพื้นที่จังหวัดชุมพร จำนวน 26 กลุ่ม เปิดประมูลผลผลิตมังคุด เพียง 11 กลุ่ม ในพื้นที่ อำเภอหลังสวน พะโต๊ะ ละแม ราคาผลผลิตมังคุดตลาดประมูล 12 – 33 บาท (เฉลี่ยทุกเบอร์ ราคา 16.77 บาท) ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะมีปัญหา 30,735 ตัน สำหรับ จ.สุราษฎร์ธานี ทุเรียนมีปริมาณผลผลิต 46,957 ตัน เก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 50 ราคา กก.ละ 110 บาท มังคุดมีปริมาณผลผลิต 7,294 ตัน เก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 50 ราคากก.ละ 23 บาท เงาะมีปริมาณผลผลิต 38,936 ตัน เก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 32 ราคากก.ละ 25 บาท ลองกองมีปริมาณผลผลิต 4,842 ตัน เริ่มเก็บเกี่ยวไปเพียงร้อยละ 0.66 ราคากก.ละ 50 บาท.