จากปัญหาช้างป่าเข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกษตรกรในพื้นที่มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชอาหารเป็นพืชชนิดอื่นๆ เพื่อให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกัน ในพื้นที่ขอบป่า ไผ่ตงเป็นพืชทางเลือกชนิดหนึ่งในพื้นที่ เกษตรกรจึงมีการรวมตัวผู้ปลูกไผ่ตง เมื่อ พ.ศ.2559 และจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ” เป็นการรวมกลุ่มปลูกไผ่ ขายหน่อสดพร้อมแปรรูปภายใต้การรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนจนประสบความสำเร็จได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ ดีเด่น ปี 2564 ภาคตะวันออก

นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง

นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก.3 จ.ระยอง) เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา อยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ประสบปัญหาช้างป่าลงมาทำลายพืชผลทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชจากพืชอาหารมาปลูกไผ่ตงแบบรวมกลุ่มกันปลูก และในปี พ.ศ.2559 ได้จัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่อำเภอท่าตะเกียบ” กับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าตะเกียบขึ้น มีสมาชิก 60 ราย พื้นที่ปลูก 601 ไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,450 กิโลกรัมต่อไร่

ปัจจุบันมี นายประสิทธิ์ รูปต่ำ เป็นประธานฯ มีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีระบบการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภายในกลุ่มและจากภายนอก มีสมาชิก40 รายที่แปลงปลูกผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP รายบุคคล และตั้งจุดรับซื้อผลผลิตมาตรฐานโรงงานผลิตอาหารตามมาตรา 14 แห่ง พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มีการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกส่งจำหน่ายที่ตลาดร่วมใจ (GAP) ตลาดไท จังหวัดปทุมธานี และตลาดในจังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี และห้างสรรพสินค้าแม็คโครสาขาฉะเชิงเทราและสาขานครนายก และศูนย์กระจายสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดสมุทรสาคร

S__21004302

S__21004303

“กลุ่มฯ ผลิตและจำหน่ายหน่อไม้สดพร้อมคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สอดคล้างกับวิถีชีวิตของสมาชิกและชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ที่มาฝึกอบรม มาต่อยอด เช่น ผลิตภัณฑ์แชมพู สบู่เหลว สบู่ก้อนจากผงถ่าน พร้อมแปรรูป และถนอนอาหารไว้บริโภคในครัวเรือนเหลือส่งจำหน่าย  เช่น หน่อไม้ดอง หน่อไม้ต้ม ชาใบไผ่ หน่อไม้สามรส เป็นต้น ทำให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย และสมาชิกมีรายได้เพิ่มอีกช่องทางหนึ่ง” นายปิยะ กล่าว

ผอ.สสก.3 จ.ระยอง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการเลือกชนิดพืชมาปลูกของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไผ่ อำเภอท่าตะเกียบนั้น ได้ช่วยแก้ปัญหาการเข้าทำลายพืชผลของช้างป่า และสร้างรายได้ให้กับสมาชิก ทั้งยังสามารถต่อรองราคาผลผลิตกับพ่อค้าคนกลาง และมีช่องทางการตลาดที่แน่นอน ผลผลิตมีคุณภาพดี ได้ราคา ปัจจุบันได้รับการจัดตั้งให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการปลูกไผ่ การผลิตหน่อไม้ การต่อยอดการผลิตด้วยนวัตกรรมใหม่มีผู้สนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

S__21004295

S__21004300

ทั้งนี้การพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เป็นบทบาทและภารกิจที่กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นในทุกระดับ (อำเภอ จังหวัด เขต ประเทศ) เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะได้ยกย่องเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกียรติคุณของวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีผลงานเชิงประจักษ์ มีแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบให้วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ได้นำไปการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาประสิทธิภาพในการประกอบการวิสาหกิจชุมชนให้เกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนต่อไป

โดยมีหน่วยงานภาคีร่วมเป็นคณะกรรมการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นระดับเขต ปี 2564 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ผู้แทนจากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนจากสำนักงานตรวจบัญชีและสหกรณ์ที่ 2 ผู้แทนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 และผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (มหาชน) เป็นกรรมการพิจารณาคัดเลือก

S__21004299

S__21004301

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated