นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า “ปลานิล” เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย จากสถิติของกรมประมงพบว่า ผลผลิตสัตว์น้ำจืดจากการเพาะเลี้ยงในปี 2562 มีปริมาณรวม 427,330 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 25,977.04 ล้านบาท
โดยปลานิล (ปลานิลและทับทิม) เป็นสัตว์น้ำจืดที่มีผลผลิตมากที่สุด มีปริมาณ 228,982 ตัน มูลค่า 11,434.46 ล้านบาท รองลงมา คือ ปลาดุก ปริมาณผลผลิตรวม 97,151 ตัน มูลค่า 4,477.12 ล้านบาท และกุ้งก้ามกราม ปริมาณผลผลิตรวม 31,984 ตัน มูลค่า 6,864.64 ล้านบาท โดยในปี 2563 ผลผลิตปลานิลในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 205,971 ตัน รวมมูลค่ากว่า 10,108 ล้านบาท ปริมาณการส่งออกปลานิลและผลิตภัณฑ์ปลานิลของประเทศไทย มีจำนวน 5,572.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 195.9 ล้านบาท สำหรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ปลานิลที่ส่งออกมากที่สุด คือ ปลานิลทั้งตัวแช่แข็ง คิดเป็นร้อยละ 74.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมา คือ ปลาสดแช่เย็น เนื้อปลาแช่แข็ง ปลามีชีวิต และเนื้อปลานิลแช่เย็น ตามลำดับ โดยตลาดหลักในการส่งออก คือ ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง กลุ่มอาเซียน สหรัฐอเมริกา กลุ่มสหภาพยุโรป และอังกฤษ
จากการที่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศนิยมบริโภคปลานิล กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักด้านการวิจัยและด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ตระหนักถึงความสำคัญของปลานิลที่มีต่อธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศ จึงให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ของปลานิลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสในการเข้าถึงสัตว์น้ำพันธุ์ดี มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรมีผลผลิต และรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย
“ปลานิลจิตรลดา 3” เป็นปลาที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์สำเร็จในปี 2550 โดยกองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จากการนำปลานิลสายพันธุ์ GIFT (Genetically Improved Farmed Tilapia) รุ่นที่ 5 ของหน่วยงาน International Center for Living Aquatic Resources Management (ICLARM)
ในประเทศฟิลิปปินส์ มาปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบหมู่ (Mass Selection) จนได้สายพันธุ์ปลานิล
ที่มีการเจริญเติบโตดี มีอัตรารอดตายสูง ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และมีลักษณะเด่น คือ หัวเล็ก ตัวหนา เนื้อมาก และเนื้อแน่น พร้อมส่งต่อให้เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยง โดยปัจจุบันหน่วยงานหลักที่ทำการผลิตพันธุ์ปลา คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำอุตรดิตถ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำบุรีรัมย์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเพชรบุรี และศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร
ล่าสุด ในปี 2564 กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ได้ดำเนินการผลิตปลานิลจิตรลดา 3 (พันธุ์หลัก) ประมาณ 1,700 ตัว เพื่อดำรงสัตว์น้ำพันธุ์ดี และปลานิลจิตรลดา 3 (พันธุ์ขยาย) อีกประมาณ 47,000 ตัว เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานของกรมประมงนำไปเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับใช้ในการผลิตและกระจายพันธุ์ให้เกษตรกรทั่วประเทศได้นำไปเพาะขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยง เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนในการประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งปัจจุบันทั้งในส่วนของกรมประมงและเกษตรกรสามารถสร้างกำลังการผลิตลูกพันธุ์ปลานิล “จิตรลดา 3” ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัวต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทต่อปี ทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงลูกพันธุ์ปลานิลจิตรลดา 3 ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเพียงพอกับความต้องการ
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวตอนท้ายว่า กรมประมงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า “ปลานิลจิตรลดา 3”
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์ปลานิลที่มีสายพันธุ์ดี คุณภาพดี ตรงกับความต้องการ
ของตลาด ลดระยะเวลาการเลี้ยง ลดต้นทุนการผลิต สร้างอาชีพที่มั่นคง และสร้างรายได้ให้เกษตรกร
ทั้งนี้ หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจเพาะเลี้ยงปลานิลจิตรลดา 3 ดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถาม
เพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง โทรศัพท์ 0 2904 7604, 0 2904 7805
และ 0 2904 7446 หรือช่องทาง Facebook Page : กองวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง