“ถึงคราวที่พลโลกต้องรักสามัคคีกัน ประเทศไทยของเรามีต้นทุนที่สำคัญมาช้านาน
ถึงเวลาหรือยังที่เราทุกคนต้องลุกออกมาช่วยเหลือกัน”
ภาพข่าวนี้เป็นบรรยายกาศการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 ของ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อรับทราบปัญหาการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร ของผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.ยะลา พร้อมเชิญทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางช่วยเหลือ หลังพบผลผลิตระบายของสู่ตลาดไม่ทัน..ที่เห็นในภาพนี้คือบริเวณแยกมาลายูบางกอง ถนนสาย 15 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ได้มีการหารือและพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการในการรับซื้อผลไม้เพื่อรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยบริเวณจุดดังกล่าวถือเป็นจุดที่มีการรับซื้อทุเรียนรายใหญ่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะนำทุเรียนมาจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการเพื่อส่งจำหน่ายต่อในพื้นที่อื่นๆ โดยปัญหาที่พบในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของระบบการขนส่งที่ไม่สามารถขนส่งไปจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ ได้ เนื่องจากในพื้นที่เองมีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด – 19 ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในการเดินทางไปมานอกพื้นที่ ขณะเดียวกันกลุ่มเกษตรกรประสบปัญหาราคาผลไม้ที่ตกต่ำเนื่องจากมีผลผลิตจำนวนมาก ทำให้ล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำกว่าทุกปี
ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้พบปะพูดคุยกับ นายจิระ พยุงภร ผู้ประกอบการทุเรียนบริษัท เอเจ ฟรุ๊ต อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งได้เปิดเผยว่า ทางบริษัทมีการรับทุเรียนจากกลุ่มเกษตรกรประมาณวันละ 30 – 40 ตัน โดยปัจจุบันประสบปัญหาด้านการขนส่งทุเรียนออกนอกพื้นที่ที่เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากมาตรการในการควบคุมพื้นที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด – 19 ซึ่งรถคอนเทนเนอร์ในการส่งของในแต่ละรอบนั้นมาไม่ทันเวลา ทำให้ทางบริษัทต้องแปรรูปทุเรียนและรับซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการแปรรูปเพื่อเป็นการถนอมอาหารในเบื้องต้น โดยสามารถส่งออกนอกพื้นที่เพื่อจำหน่ายในแต่ละครั้ง 3 – 4 ตัน
ในโอกาสนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ได้กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการมาเยี่ยมให้กำลังใจและมาเพื่อพูดคุยรับทราบปัญหาของผู้ประกอบการที่รับซื้อผลไม้ในพื้นที่ จากการพูดคุยทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดจากความล่าช้าในการขนส่ง เพื่อกระจายสินค้าไปในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงราคาผลไม้ที่มีราคาตกต่ำ ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะรับไว้เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือต่อไป โดยในวันศุกร์นี้จะมีการประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวด้วยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้ทราบว่าลูกจ้างและพนักงานในระบบของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งจะรับไปดำเนินการประสานเพื่อให้ กลุ่มเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง และป้องกันผู้อื่น เนื่องจากแต่ละวันจะต้องพบกลุ่มเกษตรกรที่มาขายผลไม้เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องป้องกันตนเองไว้ก่อน..
ปิดท้ายข่าวนี้ “เกษตรก้าวไกล” อยากสื่อสารเชื่อมโยงไปถึงคนไทยผู้มีส่วนได้เสียทุกคน โควิดที่เกิดขึ้นคือสงครามโลก ครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวโลก เศรษฐกิจต่างๆล่มสลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นี่คือการจัดระเบียบโลกที่ทำให้ทุกคนออกต้องสตาร์ทพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง ใครสังคมใดไม่ให้ความร่วมมือก็ยากที่สงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดลง ไม่มีคนจนคนรวยมีแต่คนมีน้ำใจกับไม่มีน้ำใจ ต้องเอื้อเฟื้อแบ่งปัน คนมีกำลังมากกว่าก็ต้องฉุดคนที่เมื่อยล้า ถึงคราวที่พลโลกต้องรักสามัคคีกัน ประเทศไทยของเรามีต้นทุนที่สำคัญมาช้านาน ถึงเวลาหรือยังที่เราทุกคนต้องลุกออกมาช่วยเหลือกันครับ