31 สิงหาคม 2564 กรุงเทพฯ-โครงการเกษตรก้าวไกลLIVEฝ่าวิกฤตโควิดทั่วไทย ที่เริ่มต้นเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ยังคงปลายแรง แม้ว่าโครงการนี้จะเริ่มมาเข้าสู่เดือนที่ 3 เข้าไปแล้ว ซึ่งตามเดิมจะจบโครงการภายใน 2 เดือน แต่ด้วยช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม สถานการณ์ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 รุนแรง จนรัฐบาลประกาศล็อกดาว์น ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่สีแดงไม่สามารถเดินทางข้ามเขตจังหวัดได้ จึงทำให้กระทบต่อแผนการที่จะลงพื้นที่เพื่อLIVEสดชะงักไปบ้าง แต่เมื่อสถานการณ์ที่ดูจะมีแนวโน้มจะดีขึ้นเล็กน้อยก็ทำให้บรรยายกาศต่างๆคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง
โดยในวันนี้นั้นได้มีการจัดหัวข้อเสวนา เรื่องเทคโนโลยีการปลูกพืชในโรงเรือน ตอบโจทย์เกษตรยุคใหม่อย่างไร ซึ่งผู้ที่มาเป็นวิทยากรแบ่งปันความรู้ก็คือ คุณธีรพันธ์ มหาวนา General Manager Cultivation Management เทคโนโลยีการเพาะปลูก บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรของไทย โดยมีคุณพรศักดิ์ พงศาปาน หรือ “ลุงพร เกษตรก้าวไกล” เป็นผู้ดำเนินรายการ
ในการเสวนาครั้งนั้นคุณธีรพันธ์ได้ให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน ตั้งแต่พัฒนาของโรงเรือนปลูกพืชในประเทศไทย ความจำเป็นของการปลูกพืชในโรงเรือน ประเภทของโรงเรือน องค์ประกอบเทคโนโลยีการเพาะปลูกในโรงเรือน ไม่ว่าจะเป็นระบบโรงเรือน ระบบการเพาะปลูก ระบบปรับอุณหภูมิ ระบบการควบคุม รวมไปถึงการประยุกต์การใช้งาน และเกษตรกรจะลงทุน หรือเข้าถึงระบบโรงเรือนได้อย่างไร
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้พูดถึงเรื่องสถานการณ์การปลูกพืชในโรงเรือน คุณธีรพันธ์ กล่าวว่าปัจจุบันมีการใช้โรงเรือนในหลากหลายพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ และกับในหลายชนิดพืช เดิมนั้นโรงเรือนที่ใช้ในการผลิตผลสดจะมีแค่ กลุ่มเมล่อนในภาคเหนือและภาคกลาง กลุ่มมะเขือเทศ พริกหวาน ในภาคเหนือ กลุ่มผักไฮโดรโพนิกส์ ในภาคเหนือและอีสานเหนือ ซึ่งในปัจจุบันโรงเรือนได้ถูกนำมาใช้ในหลายพืชมากขึ้น โดยเฉพาะกับพืชที่ต้องการควบคุมปัจจัยในการผลิต เช่น แตงโม ผลฟิกส์ แตงกวา องุ่น บางรายก็นำไปใช้กับข้าวโพด และที่กำลังมาแรงปัจจุบัน คือ กัญชง และ กัญชา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพืช ที่ให้ค่าตอบแทนสูง ให้ความคุ้มค่ากับเกษตรกรที่ต้องการลงทุนค่าใช้จ่ายด้านโรงเรือน
“ตอนนี้เราได้เห็นมีการปลูกกัญชงและกัญชาในโรงเรือนกันมาก เพราะว่าเป็นพืชที่ต้องมั่นใจในเรื่องความปลอดภัย และเป็นพืชที่มีราคาสูง คุ้มค่าแก่การลงทุน จะเห็นว่ามีการขายผ่านออนไลน์ ระบบการปลูกในโรงเรือนจึงตอบโจทย์ที่สามารถควบคุมความผันแปรต่างๆได้ดีกว่า ไม่แน่หลังจากกปลดล็อกพืชกระท่อมเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา เราจะเห็นการปลูกกระท่อมในโรงเรือน..”
ต่อคำถามที่ว่าที่ประเทศญี่ปุ่นนิยมปลูกมะม่วงในโรงเรือน ซึ่งมีสายพันธุ์หนึ่งที่คนไทยรู้จักมีการปลูกในโรงเรือน แสดงให้เห็นว่าไม้ผลเมืองร้อนสามารถปลูกในโรงเรือนได้ดี ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องการควบคุมสภาพภูมิอากาศ ต่อกรณีของทุเรียนที่เราเริ่มเห็นโพสต์ว่ามีปลูกในกระถางหรือในเข่งเราจะมีโอกาสได้เห็นการปลูกทุเรียนในโรงเรือนหรือไม่
ในเรื่องนี้คุณธีรพันธ์ให้ความคิดเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้ทีเดียว เพราะว่าเทคโนโลยีการปลูกพืชของโลกได้พัฒนาไปไกลมาก
“ด้วยสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป การตลาดที่มีการแข่งขันสูง เน้นคุณภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก บวกกับค่าแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆขึ้นมารองรับ และปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การนำระบบโรงเรือนเข้าไปใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งเปรียบเสมือนโรงงานปลูกพืช จะช่วยให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความเสี่ยงระหว่างการเพาะปลูกได้ อีกทั้งสามารถควบคุมปัจจัยทางธรรมชาติได้ ดังนั้นการปลูกมะม่วงหรือปลูกทุเรียนในโรงเรือนก็เป็นไปได้ เพราะเทคโนโลยีก้าวไกลไปมาก” คุณธีรพันธ์ กล่าวในที่สุด
สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมผู้สนใจคลิกชมได้ที่.. https://youtu.be/i9isxSdzLNo