นายฉกาจ ฉันทจิระวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเกษตรกรมีการเพาะเลี้ยงหอยขมในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากหอยขมได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในพื้นที่ สามารถนำไปประกอบอาหาร ได้หลากหลาย และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร การเลี้ยงหอยขมจึงเป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะใช้พื้นที่เลี้ยงน้อย เลี้ยงง่าย โตไว ต้นทุนต่ำ เลี้ยงได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญตลาดมีความต้องการสูง
จากการติดตามสถานการณ์การผลิตและตลาดหอยขมในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบการเลี้ยงหอยขมมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยจากการสำรวจ ของ สศท.4 พบว่า ปัจจุบันตัวแทนเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ของ สศก. ทั้ง 2 จังหวัด ให้ความสนใจและเริ่มนิยมเพาะเลี้ยงหอยขมในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจากตัวอย่างของ ศกอ. ที่ประสบความสำเร็จ จำนวน 5 ราย พบว่า ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงสายพันธุ์เปลือกดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีในธรรมชาติทั่วไป มีสีน้ำตาลแก่ไปจนถึงสีดำ เนื้อเหนียว และจะซื้อพ่อแม่พันธุ์จากฟาร์มที่เพาะเลี้ยงมากกว่าจับตามธรรมชาติ เนื่องจากหอยขมเพาะเลี้ยงสะอาดกว่า และไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมีเจือปน ซึ่งผลการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 341 บาท/บ่อ/รุ่น เกษตรกรจะปล่อยแม่พันธุ์ประมาณ 60 ตัว/บ่อ หรือประมาณ 1 กิโลกรัม/บ่อ (บ่อ ขนาด 80 x 35 เซนติเมตร) หลังจากเลี้ยงในระยะเวลา 6 เดือน จะให้ผลผลิตหอยขมเฉลี่ย 40 กิโลกรัม/บ่อ/รุ่น หรือประมาณ 2,400 ตัว หลังจากนั้นเกษตรกรจะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 4 เดือน จึงจับขายได้ ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 หอยขมสดรวมเปลือก เฉลี่ยอยู่ที่ 43.33 บาท/กิโลกรัม และ หอยขมแกะเปลือก เฉลี่ยอยู่ที่ 225 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากคิดผลตอบแทนเฉพาะหอยขมสดรวมเปลือก เกษตรกรจะมีผลตอบแทนเฉลี่ย 1,747 บาท/บ่อ/รุ่น ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 1,406 บาท/บ่อ/รุ่น โดยในระยะเวลา 1 ปี สามารถเพาะเลี้ยงหอยขมได้ถึง 2 รุ่น หากคิดเป็นผลตอบแทนทั้งปี เกษตรกรจะมีรายได้จากการจำหน่ายหอยขมเฉลี่ย 3,494 บาท/ปี/บ่อ หรือ คิดเป็นกำไร 2,812 บาท/ปี/บ่อ
สถานการณ์ด้านตลาด พบว่า ปัจจุบันเกษตรกรจะเน้นการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์เป็นหลักตามวิถี New Normal ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตโรคระบาดในขณะนี้ โดยผลผลิตร้อยละ 80 จำหน่ายผ่าน Facebook และ Line Group ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 20 ขายหน้าฟาร์ม ซึ่งจะมีพ่อค้าและผู้บริโภค มารับซื้อถึงที่
ผู้อำนวยการ สศท.4 กล่าวทิ้งท้ายว่า หอยขมนับเป็นสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมั่นดูแลเรื่องน้ำในบ่อเลี้ยง หากพบว่าน้ำเริ่มเน่าให้รีบเปลี่ยนทันที เนื่องจากหอยขมอ่อนไหวในสภาพของน้ำที่เน่าเสีย สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการผลิตหอยขม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายไพทูลย์ บุญสิลา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา ตำบลหนองเรือ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โทร 09 3543 7922 ซึ่งเป็นผู้แทนของกลุ่ม ศกอ.ในพื้นที่ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.4 โทร 0 4326 1513 หรืออีเมล zone4@oae.go.th