โดรนเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีติดปีก สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ” ปลอดภัย สร้างรายได้ ประยุกต์ใช้งานได้จริง
โดรนเพื่อการเกษตร เทคโนโลยีติดปีก สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ” ปลอดภัย สร้างรายได้ ประยุกต์ใช้งานได้จริง

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และ ครอปไลฟ์ เอเชีย จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนทางการเกษตร (UAV) และ การประมวลผลภาพ (Image processing)” เพื่อสร้างความเข้าใจในกฎระเบียบของเทคโนโลยี UAV ทางการเกษตรในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและปลอดภัยในระดับสากล สามารถนำทักษะมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอัจฉริยะ เสริมอาชีพ สร้างความปลอดภัย พร้อมก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานในระดับเอเชีย มากกว่า 1,200 คน ประกอบด้วย นักวิจัยภาครัฐ/เอกชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ Start up ด้านการเกษตร นิสิต/นักศึกษาเปิดอบรมโดรนเพื่อการเกษตร สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช เปิดเผยว่า จากแนวทางนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการนำนวัตกรรม/เทคโนโลยีในภาคเกษตรกรรมของประเทศและของโลก มาถ่ายทอดให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งการผลิตและการต่อยอดงานวิจัย กรมวิชาการเกษตร จึงได้ร่วมกับสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย และ ครอปไลฟ์ เอเชีย จัดการฝึกอบรมหลักสูตร “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ทางการเกษตร (UAV) และ การประมวลผลภาพ (Image processing)” ขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจในกฎระเบียบของเทคโนโลยี UAV ทางการเกษตรในประเทศและต่างประเทศ  อีกทั้งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและปลอดภัยในระดับสากล โดยหลักสูตรการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมใน  4 หัวข้อหลัก ได้แก่

  • การศึกษาข้อบังคับและกฎหมายของการใช้โดรน ผู้ใช้โดรนจะได้ทราบขั้นตอนและวิธีการขึ้นทะเบียนโดรนเกษตร การขออนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับอากาศยานไร้คนขับ และพ.ร.บ.วัตถุอันตรายทางการเกษตร
  • การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Image Processing กับงานด้านอารักขาพืช เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชด้วยการใช้โดรนทางการเกษตร กรณีการศึกษาการเข้าทำลายของไรแดงแอฟริกันในทุเรียน ที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาให้ผู้เข้าอบรม
  • การใช้งานและการประยุกต์ใช้ UAV ทางการเกษตร โดยการวางกฎระเบียบการใช้ โดรนด้านการเกษตร แลกเปลี่ยนมุมมองภาคอุตสาหกรรมต่อการพัฒนาโดรน และการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยจากประสบการณ์จริง
  • การศึกษาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยโดรนการเกษตร เพื่อเป็นอาวุธลับให้เกษตรกรและผู้ใช้โดรน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยเปิดอบรมโดรนเพื่อการเกษตร สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

อากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV เข้ามามีบทบาททางการเกษตรในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นเครื่องมือที่เกษตรกร หรือนักวิจัย ใช้ในกระบวนการการผลิตและวิจัย เพื่อรองรับการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ในยุคที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาสร้างตลาดและมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร กรมวิชาการเกษตรพยายามขับเคลื่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาภาคการเกษตร อาทิการใช้เซนเซอร์ชนิดต่างๆ เช่น กล้อง RGB กล้อง MULTISPECTRAL เซนเซอร์ตรวจวัดสภาพแวดล้อม ตรวจวัดดิน/น้ำ พร้อมทั้งปรับรูปแบบของการบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล ให้อยู่ในรูปแบบของ Digital Data บน Platform เดียวกัน เพื่อการเชื่อมโยงงานด้านการเกษตรเข้ากับงานด้านไอที และเครื่องจักรกลการเกษตร นำไปสู่การประมวลผลและสั่งการการทำงานของอุปกรณ์/เครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งการอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Transformation จากภาคการเกษตร สำหรับการเตรียมความพร้อมของนักวิจัย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ในการเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทยให้มีศักยภาพแข่งขันในตลาดโลก นายศรุต กล่าวสรุปเปิดอบรมโดรนเพื่อการเกษตร สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

ด้าน นายเจอริโก เบอนาบี แกสกอน นายกสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ทำกินของคนในประเทศ และเป็นหัวใจหรือหลอดเลือดของเกษตรกร จากอดีตจนถึงปัจจุบันเกษตรกรมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากมาย มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เป็นตัวช่วยให้การทำงานรวดเร็ว และสะดวกสบายมากยิ่ง จวบจนปัจจุบัน “โดรน” หรือ อากาศยานไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมในภาคอุตสาหกรรมเกษตร มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสมกับโลกการผลิตให้เป็นจริงในระดับประเทศ ในยุคของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  โดรนกลายเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถนำประโยชน์มาสู่เกษตรกรอย่างมากมาย เช่น การประหยัดแรงงาน ลดการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงาน ลดต้นทุนของเกษตรกร มีความคุ้มทุน คล่องตัว รวดเร็ว ประหยัดเวลา รวมทั้งมีความแม่นยำและลดความสูญเสียได้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ สามารถสร้างรายได้ให้ผู้ใช้โดรนอีกด้วย และในอนาคต “โดรน” อาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญของเกษตรกรไทย ที่ทำให้ทุกคนให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้อย่างมีความรับผิดชอบและมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอนเปิดอบรมโดรนเพื่อการเกษตร สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

ทั้งนี้ เป้าหมายในการฝึกอบรมดังกล่าว คือ ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบและการขึ้นทะเบียน ความปลอดภัย ตลอดจนการนำเทคโนโลยี และภาควิชาการของโดรนทางการเกษตรไปใช้ในทุกแง่มุม จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ครอปไลฟ์ เอเชีย กำลังผนึกกำลังกับรัฐบาลทั่วเอเชีย ในการเพิ่มความรู้และความเข้าใจในเทคโนโลยีทางการเกษตร ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นในการสานต่อความร่วมมือกับรัฐบาลไทยและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งมอบเทคโนโลยีโดรนให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เกษตรกร รวมทั้งนักศึกษาหรือผู้ว่างงานได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถเสริมสร้างอาชีพ เกิดรายได้ พร้อมก้าวเข้าสู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture)” อย่างมีประสิทธิภาพได้ในวงกว้าง นาย เจอริโก กล่าวทิ้งท้ายเปิดอบรมโดรนเพื่อการเกษตร สู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”

สำหรับผู้สนใจหลักสูตร “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรนทางการเกษตร (UAV)” รวมถึงการขอข้อมูลเกี่ยวกับโดรนทางการเกษตรในงานด้านอารักขาพืช สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานวิจัยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร 02-579-4115, 02-579-1061 ต่อ 162 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://web.facebook.com/PATRS.DOA/ และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่  https://www.facebook.com/taitacroplifethailand

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated