นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพัดผ่าน และพายุดีเปรสชัน “โกนเซิน” ที่อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ส่งผลให้มีฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรเสียหาย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เพื่อย้ำแนวทางการปฏิบัติให้กับทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ
โดยขณะเกิดภัย ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ดำเนินการ ดังนี้
1.ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และรายงานสถานการณ์พื้นที่การเกษตรประสบภัยพิบัติให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบโดยด่วน
2.จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกรที่ประสบภัย รวมถึงออกเยี่ยมเยียนให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่ประสบภัย
3.เตรียมข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกเชิงแผนที่ และประสานงาน ชป.ในพื้นที่/ท้องถิ่น/ปภ.จังหวัด ฯลฯ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ผลักดันน้ำ สูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร
4.ประสานการปฏิบัติงานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ส่วนช่วงหลังเกิดภัย หรือหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ดำเนินการ ดังนี้
1.จัดทีมฟื้นฟูอุทกภัย (One team for all jobs) โดยมอบหมายให้เกษตรอำเภอในฐานะประธานคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ระดับอำเภอ (Operation Team : OT) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย อำนวยการและบูรณาการการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนและการช่วยเหลือเกษตรกรด้านต่างๆ เพื่อหยุดยั้งความเสียหาย เช่น การเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ การบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เกษตร การดูแลสุขภาพสัตว์และป้องกันโรค การให้บริการคลินิกเกษตร (พืช ประมง ปศุสัตว์) การสำรวจความเสียหายและการเยียวยาช่วยเหลือด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง ฯลฯ ทั้งนี้ ให้ประสานงานการปฏิบัติกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ และกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่นั้น ๆ
2.เมื่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้เร่งรัดสำรวจและประเมินความเสียหาย
3.เร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/จังหวัด (ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เกิดภัย
4.ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร ในการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ การดูแลรักษา และการจัดการความชื้นในฤดูฝน การจัดการพื้นที่และการระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก การฟื้นฟูพืชหลังน้ำลด และการป้องกันกำจัดศัตรูพืช
5.สนับสนุนพันธุ์ไม้ผล ไม้ยืนต้น เมล็ดพันธุ์ผัก สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อไตรโคเดอร์ม่า เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยอุทกภัย หลังน้ำลด
6.รายงานสถานการณ์ การช่วยเหลือ ความต้องการของเกษตรกร ปัญหาอุปสรรคต่อเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับจังหวัด เพื่อทราบ/พิจารณา เสนอประธานตามลำดับทุกวันจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานเกษตรจังหวัดรายงานความก้าวหน้าผลการสำรวจความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือให้กรมส่งเสริมการเกษตรทราบทุกสัปดาห์จนกว่าการช่วยเหลือจะแล้วเสร็จ