กรมวิชาการเกษตร ได้สรุปว่า โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนที่พบมีสาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา โดยราสามารถเข้าทำลายได้ทุกส่วนของต้น ได้แก่ ใบ กิ่ง ลำต้น ดอก ผล และระบบราก อีกทั้งราจะอาศัยอยู่ในดินและสามารถแพร่ระบาดได้ทั้งในน้ำและในอากาศ มักจะระบาดในช่วงฤดูฝน
ดร.พรพิมล อธิปัญญาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช กล่าวว่า การเข้าทำลายของโรครากเน่าโคนเน่า ที่ใบและกิ่งอ่อน มีอาการเน่า ใบอ่อนเหี่ยวเหลือง มีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ กิ่ง ลำต้น และโคนต้น มีจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาล และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหืน แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว มักพบโรคร่วมกับการเข้าทำลายของมอดเจาะลำต้นทุเรียน และจะระบาดในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกติดต่อกัน
กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง
ให้เกษตรกรใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ แบบใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ฮาร์เซียนั่ม ให้นำหัวเชื้อมาเพิ่มปริมาณในข้าวสุก จากนั้นหว่านส่วนผสมเชื้อสดให้ทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่มจนถึงรอบชายพุ่ม อัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือบริเวณโคนต้นพืชที่เกิดโรค อัตรา 10-20 กรัมต่อต้น หรือแบบใช้เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส ให้ใช้เข็มฉีดยาใส่สารละลายของเชื้อ อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 มิลลิลิตร ฉีดเข้าในโคนต้นทุเรียน ต้นละ 3 จุด 1 ครั้ง จากนั้นลอกเปลือกต้นทุเรียนบริเวณที่เป็นโรคออกแล้วทาด้วยผงเชื้อ อัตรา 1,000 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยจะต้องผสมสารจับใบ อัตรา 5 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร และราดดินบริเวณโคนต้นด้วยผงเชื้อ อัตรา 200 กรัมต่อน้ำ 2 ลิตรต่อต้น โดยลอกเปลือกและราดดินซ้ำ รวม 4 ครั้ง
กรณีโรคเข้าทำลายรุนแรง
ให้เกษตรกรถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก จากนั้นทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดดินด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น ถ้าพบกิ่งแห้งที่มีรอยเจาะทำลายของมอด ให้ตัดไปเผาไฟทิ้ง สำหรับส่วนที่ไม่สามารถตัดทิ้งได้ ให้พ่นบนกิ่งใหญ่หรือลำต้นที่มีรูมอดเจาะด้วยสารฆ่าแมลงคลอไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน
ท่านที่สนใจวิธีควบคุมและป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.พรพิมล อธิปัญญาคม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ 092-259-8457
ประสบการณ์จากเกษตร
คุณธีรภัทร อุ่นใจ เกษตรกรข้าวของสวนทุเรียน ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรีเป็นผู้หนึ่งที่ถือว่าประสบคามสำเร็จในการทำสวนทุเรียนจนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติมาแล้ว กล่าวว่าโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน เกิดขึ้นได้บ่อยช่วงที่ฝนตกชุก จากประสบการณ์ของตนจะใช้วิธีป้องกันอย่างง่ายคือ การฉีดพ่นไตรเคอร์เดอร์มาทุเรียนทุกต้นทุก 3 เดือน กรณีต้นที่เริ่มติดโรคให้ผสมไตรโคเดอร์มาเทราดตรงโคนต้นหรือถ้าเป็นที่กิ่งก็ขูดเปลือกทุเรียนและที่แผลทาด้วยปูนแดง คำอธิบายเพิ่มเติมคลิกดูจากคลิปนี้ https://youtu.be/_tvJuOf3Qn0 หรือคลิปนี้ให้ดูจากต้นจริงที่หนักกว่า https://youtu.be/BUhdMt-F_nQ
ทางด้าน “โกดำ” หรือ คุณณรงค์พล เพชรรัตน์ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเบตง ในฐานะผู้มีประสบการณ์อีกคนหนึ่งที่ “เกษตรก้าวไกล” เคยมาร่วมเสวนากับ “อาจารย์เล็กโกพลัส” ซึ่งขณะนั้นที่สวนทุเรียนของเขาเคยประสบปัญหานี้มาก รวมทั้งสวนทุเรียนของเพื่อนๆ กล่าวว่าปัจจุบันมีสารชีวภัณฑ์ รวมทั้งยาชนิดต่างๆสามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าดูแลจัดการไม่ดีจะระบาดรวดเร็วมาก และหากปล่อยไว้นานจะรักษายาก บางต้นถึงกับยืนต้นตายไปก็มีมากมากแล้ว จึงฝากให้เพื่อนๆเกษตรกรอย่านิ่งนอนใจ