ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการประชุมการดำเนินงานระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ ผ่านระบบออนไลน์ ว่า การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ระยะ 10 ปี ฉบับใหม่ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO (Food and Agriculture Organization) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอาหารเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่มีทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้ร่วมนำเสนอการดำเนินงานในการพัฒนาสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย 3S คือ ความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนภาคการเกษตร ขับเคลื่อนโดยกรอบยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวด้านการเกษตร
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ผลักดันการดำเนินการพัฒนาภาคการเกษตรในรูปแบบระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เน้นการพัฒนาแบบบูรณาการทรัพยากรธรรมชาติทั้ง 5 อย่างเข้าด้วยกัน ได้แก่ ระบบนิเวศ ดิน ป่าไม้ ที่ดิน และน้ำ ยึดหลักเกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฏีใหม่ เกษตรผสมผสาน เกษตรธรรมชาติ และวนเกษตร โดยการพัฒนาในรูปแบบนี้จะครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร กระบวนการผลิต และการจัดการทุกรูปแบบ เพื่อให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศวิทยาในการเกษตร จนนําไปสู่การพึ่งตนเองและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานระดับโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ FAO ในครั้งนี้อย่างเห็นได้ชัด และจะนำไปสู่การตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 และ 2 เกี่ยวกับการขจัดความยากจน หิวโหย และความอดอยากทุกรูปแบบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า สำหรับการนำเสนอสินค้าเกษตร Special Agricultural Products (SAPs) ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ในโครงการหนึ่งประเทศหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไทย ซึ่งสินค้า SAP จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรสีเขียวที่มีเอกลักษณ์ด้านแหล่งผลิต ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป และรสชาติ โดยสินค้าเกษตรไทยหลากหลายชนิดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขของสินค้าเกษตร SAP ตามที่ FAO กำหนด โดยสินค้าเกษตรที่จะหยิบยกขึ้นเป็นสินค้าเกษตร SAP คือทุเรียนไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์ของแหล่งผลิต มีอัตลักษณ์ด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะเนื้อ เป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI เป็นทุเรียนระดับพรีเมียมที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากทุเรียนต่างชาติอย่างชัดเจน ซึ่งอัตลักษณ์ของความเป็นทุเรียนไทยนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของสินค้า ทุเรียนไทยเป็นสินค้าเกษตรไทยที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกสูงที่สุด ซึ่งอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่องและมั่นคง โดยในปีนี้ แนวโน้มการส่งออกทุเรียนไทยจะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 2,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 40 ซึ่งเทียบเท่ากับราวร้อยละ 2.5 ของ GDP ของไทย
ทั้งนี้ การปลูกทุเรียนไทยเป็นการปลูกในรูปแบบเกษตรยั่งยืนและเกษตรสีเขียว โดยการแซมแปลงทุเรียนด้วยพืชสมุนไพร เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชโดยไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำธรรมชาติ สวนทุเรียนไทยตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขา ซึ่งต้นทุเรียนเป็นพืชที่มีรากแก้ว สามารถยึดเกาะพื้นดินได้แน่นและสามารถอุ้มน้ำได้ดี จึงมีส่วนช่วยในการรักษาทรัพยากรดิน น้ำ และระบบนิเวชได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการป้องกันการเกิดน้ำป่าไหลหลากและหน้าดินถล่ม นอกจากนี้ การปลูกทุเรียนไทยเป็นในลักษณะวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ มีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ทุเรียนไทยได้รับมาตรฐาน GAP เป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดการส่งออกอีกด้วย