สสก.3 จ.ระยองเดินหน้าขยายผล เฝ้าระวัง ป้องกัน และจัดการแมลงศัตรูพืชอย่างเป็นระบบ เปิดแนวทางการบริหารจัดการแบบเข้าถึงจากนักส่งเสริมสู่เกษตรกร จัดตั้ง ศจช. 236 ศูนย์ ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ภายใต้แนวคิด ชุมชนจะเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต้องปฎิบัติโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ( สสก. 3 ) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในปัจจุบันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั้งชนิด และปริมาณ และมีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ยากต่อการป้องกันและกำจัด ซึ่งการระบาดของศัตรูพืชเหล่านี้สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก เกษตรกรต้องสูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดศัตรูพืชแก่เกษตรกร ทั้งเป็นจุดเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืช ให้มีการจัดตั้ง ศจช. ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชอย่างถูกต้องเหมาะสม ภายใต้แนวคิด “ชุมชนจะเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ต้องปฏิบัติโดยเกษตรกรเพื่อเกษตรกร”
“ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สสก.3 จ.ระยอง นั้นได้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ขึ้นซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อจัดการศัตรูพืชในพื้นที่ของตนเองและชุมชน โดยสมาชิกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนจะได้รับการถ่ายทอดความรู้จากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร และนำความรู้ไปดำเนินการจัดการศัตรูพืชด้วยตนเอง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะใช้ ศจช. เป็นกลไกและเครือข่ายของการจัดการศัตรูพืช ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรจากการระบาดของศัตรูพืชและเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อให้สามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง อย่างครบวงจรและยั่งยืน” นายปิยะ กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า จะมีการใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรรม และรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางการเกษตร พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เป็นหน่วยปฏิบัติการขับเคลื่อน ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ในการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานด้านการจัดการศัตรูพืช เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในระดับภูมิภาค เชื่อมโยงเครือข่ายในการดำเนินงาน 9 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ สระแก้ว และจังหวัดตราด ซึ่งมีการจัดตั้ง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ทั้งหมดกว่า 236 ศูนย์ โดยล่าสุดทางกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สสก.3 จ.ระยอง ได้ดำเนินการสัมมนาเครือข่ายคณะกรรมการศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ระดับเขต ปี 2564 ขึ้น ระหว่างวันที่ 26 – 27 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยผ่านระบบออนไลน์ เพื่อสรุปผล พร้อมทบทวนการดำเนินงานการพัฒนา และขับเคลื่อนศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน และแลกเปลี่ยนความรู้ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการดำเนินงานด้านการจัดการศัตรูพืช และเครือข่ายการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชในระดับภูมิภาคและให้สมาชิก ศจช. ตลอดถึงเจ้าหน้าที่ ได้มีการสื่อสารระหว่างกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอารักขาพืช ทำให้เกิดเครือข่าย ศจช. ที่มีการเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารในระดับภูมิภาคที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพในระดับภูมิภาค
“เป็นการติดอาวุธ เสริมความรู้เรื่องการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (Integrate Pest Management : IPM) และโรคแมลงศัตรูพืชสำคัญและการป้องกันกำจัด โดย อาจารย์สุเทพ สหายา ผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน สารป้องกัน ซึ่งผลการสัมมนาเครือข่าย ศจช. ระดับเขต ปี 2564 ครั้งนี้ ได้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ฯ ได้รับความรู้และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงวิธีการป้องกัน เทคนิควิธีการกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน รวมถึงการวินิจฉัยโรคพืช” นายปิยะ กล่าว
ทั้งนี้พืชที่วิทยากรนำมาประกอบการบรรยายในการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย ไม้ผล ไม้ยืนต้น ข้าวและพืชผัก เช่นทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ข้าว พืชผัก มันสำปะหลัง และลำไย ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชที่มีการปลูกกันมากในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีจำนวนหนึ่งที่เป็นแปลงพยากรณ์แมลงศัตรูพืชของ ศจช. นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงาน และแนวทางการพัฒนา ศจช. เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในระดับเขตขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงาน ตลอดถึงการกำหนดแผนการพัฒนา ศจช. พื้นที่ภาคตะวันออกร่วมกันต่อไปอีกด้วย