สสก.3 จ.ระยอง เดินหน้าขยายผลแนวทางบริหารจัดการพืชให้ผลหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกวิธี ผ่าน 2 แนวทาง เข้าถึงพื้นที่และระบบออนไลน์ เน้นดูแลบำรุงต้นพืชด้วยปุ๋ยสูตรใหม่จากน้ำหมักมังคุด ร่วมกับปุ๋ยคอกเก่าแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่า เพื่อช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมีของเกษตรกร เผยทุเรียนนอกฤดูของไทย ตลาดจีนยังสดใสไม่มีคู่แข่ง
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) เปิดเผยถึงแนวทางในการให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมเกษตรกรในการจัดการพื้นที่เพาะปลูกหลังฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบ 9 จังหวัดภาคตะวันออกของ สสก.3 จ.ระยอง มีพืชหลักที่เกษตรกรปลูกอยู่ 5 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ และลองกอง ซึ่งฤดูกาลผลิตปี 2564 มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตสิ้นสุดแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อเข้าเดือน สิงหาคม จะเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ของปี 2565
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวต่อไปว่า ดังนั้น เพื่อการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการดูแลบำรุงรักษาต้นพืชของเกษตรกรอย่างถูกวิธี และให้พร้อมสำหรับผลผลิตที่ดีมีคุณภาพในฤดูกาลผลิตปี 2565 ทาง สสก. 3 จ.ระยอง จึงได้เตรียมบุคลากรในการดำเนินงานส่งเสริมสนับสนุน ตลอดถึงการให้แนวทางและความรู้แก่เกษตรกรภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรคของรัฐบาลใน 2 แนวทางด้วยกันประกอบด้วย การส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และการใช้ระบบออนไลน์ โดยการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จะเลือกเฉพาะพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ที่ไม่มีความเสี่ยงในการระบาดของโควิด-19 ส่วนพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการรวมตัวของเกษตรกร โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สีแดงอย่างจังหวัดระยอง จะใช้ระบบออนไลน์ในการเชื่อมโยงกับเกษตรกรผ่านกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ซึ่งเป็นต้นแบบและแหล่งกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ค่อนข้างทั่วถึง”
“โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ซึ่งฤดูกาลผลิตปี 2564 มีการเก็บเกี่ยวสิ้นสุดไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เมื่อเข้าเดือนสิงหาคม ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ของปี 2565 เช่น การตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลผลิตช่วงที่ผ่านมา การดูแลบาดแผลบริเวณกิ่งและลำต้นที่เกิดจากการเก็บผลผลิต การเฝ้าระวังและแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน การใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชอย่างถูกวิธี ซึ่งจะเน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกเก่า จะเป็นปุ๋ยขี้ไก่หรือปุ๋ยขี้วัวก็ได้ นำมาใส่ในรัศมีไกลๆ โคนต้น พร้อมสนับสนุนให้ใช้ปุ๋ยน้ำหมักจากเปลือกมังคุดซึ่งเป็นงานวิจัยของมหาลัยบูรพา ในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เป็นต้น” นายปิยะ กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ภาคตะวันออกนอกจากเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตมังคุดที่สำคัญ โดยพบว่าในเปลือกมังคุดนั้นมีสารออกฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา สาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนได้ จึงได้มีนำเปลือกมังคุดมาหมักร่วมกันกับจุลินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 และจุลินทรีย์จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมเชื้อรา โดยมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี และประสบความสำเร็จ ที่สำคัญเกษตรกรในพื้นที่มีความนิยมใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 2 ใน และสารเร่งซุปเปอร์ พด.7 เป็นสารไล่แมลงอยู่แล้ว เมื่อนำสารเร่งทั้ง 2 มาใช้ในการหมักแทนจุลินทรีย์ EM และใช้กากน้ำตาลแทนการใช้น้ำตาลทรายแดง เพราะมีราคาถูกกว่า ก็เป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรในการใช้สารเคมีได้เป็นอย่างดี
“ทุเรียนนอกฤดูของเขตภาคตะวันออกในแต่ละปีเกษตรกรผลิตได้ไม่น้อยกว่า 20% ของผลผลิตในฤดูกาลปกติสำหรับรายที่มีการเตรียมต้นดีและมีน้ำพร้อม นับเป็นการกระจายผลผลิตทำให้ผลผลิตในช่วงฤดูปกติไม่กระจุกตัว และตลาดในประเทศจีนมีความต้องการมาก โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป ผลไม้ในประเทศจีนจะขาดตลาด เพราะไม่ใช่วงรอบของผลไม้ที่ประเทศจีนผลิตเองในประเทศ ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากแถบอเมริกาใต้ และแอฟริกาตอนล่าง เช่นเชอรี่ ฉะนั้นทุเรียนนอกฤดูของไทยจึงได้เปรียบมากในเรื่องของตลาดในประเทศจีน และที่ผ่านมาสามารถจำหน่ายได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 200 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติถึง 30% เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อย แต่ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลต้นทุเรียนอย่างถูกวิธีจึงจะได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพ” นายปิยะ กล่าว
สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและไม้ผลทั่วไปในพื้นที่ภาคตะวันออกหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรคอยให้คำแนะนำในการดูแลต้นพืชอย่างถูกวิธีแก่เกษตรกรเป็นอย่างดี ที่สำคัญทุกกลุ่มมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางระบบออนไลน์ ที่สามารถให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่เกษตรกรได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง