เดินหน้ารณรงค์ดูแลบริหารจัดการแปลงปลูกลำไยอย่างถูกวิธี ลดเพลี้ยแป้งปะปนในผลผลิตส่งออก ควบคู่สุ่มตรงที่เข้มงวดทั้งแปลงปลูกและล้งรับซื้อเพื่อส่งออกมากขึ้น เผย ฤดูผลิตปี 65 แปลงปลูกลำไยพื้นที่ภาคตะวันออกให้ผลเพิ่มขึ้น ทุกแปลงจะต้องผ่าน GAP
นายปิยะ สมัครพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง (สสก.3 จ.ระยอง) เปิดเผยว่า จากที่ทางจีนได้มีการตรวจเจอศัตรูพืชปะปนไปในลำไยของไทย จากผู้ประกอบการซึ่งเป็นโรงคัดแยกและบรรจุลำไยทั้งหมด 66 ราย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 11 ราย ลำพูน 26 ราย จันทบุรี 28 ราย และสระแก้ว 1 ราย จึงได้ระงับการนำเข้าลำไยทันที ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งตามพิธีสารระหว่างไทยและจีนเรื่องการส่งออกผลไม้ มีการตกลงกันว่าจะต้องมีการสุ่มตรวจผลไม้ 3% ของตู้ขนส่ง ต่อมาทางการไทยได้เสนอให้มีปลดล็อกให้ผู้ประกอบการ โดยการจัดเกรดผู้ประกอบการรวมถึงโรงคัดแยกและบรรจุโดยแบ่งเป็น ที่พบมากกว่า 3% ซึ่งมีเพียง 14 รายจากกลุ่มจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน 10 แห่งจากทั้งหมด 37 แห่ง จังหวัดจันทบุรี 4 แห่งจากทั้งหมด 28 แห่ง เท่ากับว่าผู้ประกอบการที่เหลือ 55 ราย เป็นกลุ่มที่สุ่มตรวจพบน้อยกว่า 3% การนี้ทางการไทยได้ส่งมาตรการป้องกันและนำส่งรายงานผลการปรับปรุงแก้ไขของโรงคัดบรรจุลำไยส่งออกไปจีน รวมถึงระบบควบคุมการส่งออกของไทย ให้ผู้เชี่ยวชาญของฝ่ายจีนได้ประเมิน ต่อมาในวันที่ 17 ส.ค. 64 ทางการจีนส่งผลประเมินกลับมามีผลให้ผู้ประกอบการที่มีการตรวจพบแมลงศัตรูพืชกักกันน้อยที่สุด 50 แห่งจาก 66 สามารถส่งออกได้ตามปกติ สำหรับโรงคัดบรรจุ 9 แห่งที่ทางการจีนขอให้ระงับการส่งออกชั่วคราวเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น ก็สามารถปรับปรุงและผ่านการพิจารณาของจีนได้ 6 ราย จึงสามารถส่งออกได้อีกครั้ง ทำให้มียอดรวมโรงคัดบรรจุที่สามามารถส่งไปจีนได้ 56 ราย จาก 66 ราย ลำไยไทยจึงไม่ตกค้างในฤดูการผลิตปี 2564
“อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก ผู้ประกอบการไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางการจีนกำหนดในฐานะประเทศผู้นำเข้า เพื่อรักษาตลาดลำไยของไทยในจีนไว้ต่อไป สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกภายใต้การรับผิดชอบของ สสก. 3 จ.ระยอง หลังจากรับทราบปัญหาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการประสานงานกับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพื่อเข้าไปดูแล ซึ่งเกษตรกรกลุ่มนี้จะขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร และทุกคนยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้งที่ติดกับผลลำไยจริง ซึ่งพบว่าปีฤดูการผลิต 2564 แปลงปลูกลำไยเจอปัญหาเพลี้ยแป้งมากกว่าปี 2563” นายปิยะ กล่าว
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านๆ มามีปนเปื้อนบ้างแต่ไม่มากนัก โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกพื้นที่เพาะปลูกจะเจอปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง เกษตรกรมีการใช้สารกำจัดเพลี้ยประมาณ 55% ของพื้นที่ปลูกที่เหลือไม่ได้ราด เมื่อกระทบกับภัยแล้งผลผลิตน้อยเพลี้ยก็น้อยไปด้วยเนื่องจากการดูแลไม่ลำบาก มาในปี 2564 ภูมิอากาศเอื้ออำนวยปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นส่งผลให้การดูแลรักษาแปลงเพาะปลูกไม่ทั่วถึง ประกอบกับแรงงานขาดแคลนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 การตัดแต่งช่อผลจึงทำได้น้อยซึ่งหากปล่อยให้ช่อหนึ่งมีเกิน 100 ผล เป็นพวงยาวแน่นก็จะเกิดปัญหาเพลี้ยแป้งได้ง่าย เมื่อเก็บเกี่ยวเพลี้ยแป้งที่ติดไปในตะกร้าส่งออกส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะของไข่กับตัวอ่อนที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องใช้แว่นขยายส่องดู ผลผลิตที่ส่งออกจึงติดไข่เพลี้ยแป้งเข้าไป เมื่อสินค้าถูกขนส่งถึงประเทศจีนเพลี้ยอ่อนเหล่านั้นก็จะโตเป็นตัวเต็มวัยพอดี และจะมองเห็นด้วยตาเปล่า
“ที่สำคัญลำไยของไทยมีคู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะลำไยของประเทศจีนที่ผลิตได้จำนวนมากในแต่ละปี ทางการจีนจึงต้องเข้มงวดมากขึ้น แต่ด้วยว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ที่มีมาอย่างยาวนานยังผลให้ทางการจีนได้อนุโลมให้กับสินค้าลำไยของไทยสามารถส่งเข้าจำหน่ายในประเทศจีนได้ดังเดิมในช่วงที่ผ่านมาแต่ถึงกระนั้นเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นในฤดูการผลิตต่อๆ ไป ในส่วนของ สสก. 3 จ.ระยอง จะมีการดำเนินการป้องกันด้วยการให้ความรู้ และวิธีกำจัดเพลี้ยแป้งแก่เกษตรกรอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการตั้งแต่ในแปลงปลูก โดยจะเริ่มต้นจากกลุ่มเกษตรผู้นำ ไปถึงเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้ถึงวิธีการในการบริหารจัดการสวนที่ดีและถูกต้องในการป้องกันเพลี้ยแป้งปนเปื้อนในผลผลิตลำไย ควบคู่กับการตรวจแปลงจากเมื่อก่อนเคยสุ่มตรวจ 7% ต่อไปจะสูงขึ้นเป็น 10% คือมากขึ้น โดยกรองขั้นแรกสุ่มตรวจที่แปลงปลูกของเกษตรกร กรองขั้นที่สองคือผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก หรือล้ง เพื่อไม่ให้เพลี้ยแป้งหลุดเล็ดรอดติดไปกับผลลำไยออกไปต่างประเทศ และจะต้องถือปฏิบัติร่วมกันเป็นกิจวัตร”
“ที่สำคัญเกษตรกรทุกรายที่ปลูกลำไยจะต้องมีใบ GAP และ GAP ในฤดูการผลิตปี 2565 ทางกรมวิชาการเกษตรจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรทุกรายที่ปลูกใหม่ยังไม่มีผลผลิตในปี 2564 ที่ผ่านมาสามารถเข้าสมัคร GAP ได้เลย ซึ่งโดยค่าเฉลี่ยจังหวัดจันทบุรีมีพื้นที่ปลูกประมาณ 300,000 ไร่ รวมกับที่จะเข้ามาใหม่และจังหวัดสระแก้วอีกประมาณ 200,000 กว่าไร่ ส่วนจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และตราด จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ และผู้นำกลุ่มเกษตรกรต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป” นายปิยะ กล่าว