นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน พัฒนาและเพิ่มศักยภาพการผลิต การแปรรูป การเพิ่มมูลค่า การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการให้บริการทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน เป็นเวลากว่า 54 ปีที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ช่วยเหลืออยู่เคียงคู่พี่น้องเกษตรกรมาด้วยความมุ่งมั่น นับตั้งแต่การก่อตั้งกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2510 เพื่อเป็นการร่วมระลึกถึงวันแห่งความภาคภูมิใจ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมการเกษตรครบรอบ 54 ปีขึ้น ในวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ณ บริเวณอาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยได้รับเกียรติจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีผ่านระบบออนไลน์ สำหรับกิจกรรมภายในงานได้จัดให้มีพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กิจกรรมปลูกต้นไม้ เนื่องในวันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2564 การมอบเงินบริจาคแก่มูลนิธิศุภนิมิต การมอบรางวัลบุคคล หน่วยงานดีเด่น เกษตรกรดีเด่น สถาบันเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ และผู้ทำคุณประโยชน์กับกรมส่งเสริมการเกษตร และมอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแก่ข้าราชการและลูกจ้างกรมส่งเสริมการเกษตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรวางแผน “Next Step” ขับเคลื่อนองค์กรวิถีใหม่ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรก้าวทันยุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีแม่นยำ เชื่อมโยงตลาดนำการผลิต” ซึ่งได้วางแนวทางไว้ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการปรับระบบการทำงานเข้าสู่ New Normal มุ่งพัฒนากรมส่งเสริมการเกษตรสู่การเป็น Digital DOAE เน้นพัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบ Big Data พร้อมยกระดับเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเกษตรยุคใหม่ (Agri-Entrepreneurs) ส่งเสริม e – Commerce และเชื่อมโยงสินค้าเกษตรเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจสำหรับเกษตรกรรายบุคคล (Personalized Service) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนาอาชีพของเกษตรกร ตลอดจนเตรียมกลยุทธ์รองรับ Next Normal ในอนาคตสำหรับการทำงานออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ โดยยังคงยึดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของโครงการเป็นสำคัญ และผลักดันองค์กรสู่ระบบราชการ 4.0 มุ่งเป็นหน่วยงานที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมส่งมอบบริการที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกร โดยยึดหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับส่วนที่ 2 คือ วางแนวทางการดำเนินงานภารกิจสำคัญ ได้แก่ การขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ครอบคลุมพื้นที่และเกษตรกรมากขึ้น ส่งเสริมการเกษตรโดยยึดหลักตลาดนำการผลิต เน้นผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมีคุณภาพได้มาตรฐาน พัฒนาตลาดสินค้าเกษตร ทั้ง online และ offline ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ ยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว ด้วยการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนความยั่งยืนของฐานทรัพยากร รวมทั้งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ขยายโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนา Young Smart Farmer และ Smart Farmer ให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการเกษตรของชุมชน พร้อมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และภาคการเกษตร ให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ขยายผลการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ บูรณาการงาน/โครงการลงสู่พื้นที่เป้าหมาย ลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และการช่วยเหลือดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร จัดทำแผนเตรียมรับมือและฟื้นฟูอาชีพการเกษตรหลังจากเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะให้คำแนะนำ การเตรียมพันธุ์พืช สารชีวภัณฑ์ และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคในครัวเรือนและสร้างรายได้ในระยะสั้น และสามารถประกอบอาชีพการเกษตรต่อไปได้อย่างมั่นคง และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตร และนักส่งเสริมการเกษตรทุกคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ยังคงมุ่งมั่นตั้งใจขับเคลื่อนการทำงานวิถีใหม่ เพื่อใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนแก่พี่น้องเกษตรกรไทยต่อไป