นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่นำวิธีการสหกรณ์เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎรในรูปแบบ “หมู่บ้านสหกรณ์” ใช้หลักการและวิธีการสหกรณ์มาพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจนประสบความสำเร็จและนำมาเป็นแบบอย่างในการขยายผลสู่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศในขณะนี้
นับตั้งแต่ปี 2507 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จแปรพระราชฐานพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่ามีเกษตรกรชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัวมีฐานะยากจน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง จึงโปรดรับเกษตรกรกลุ่มนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดหาที่ดินในพื้นที่เขตจ.เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเป็นที่มาของโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่ดินบริเวณหุบกะพง ต.เขาใหญ่ อ.ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ประมาณ 12,000 ไร่ ได้ถูกนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าทำประโยชน์เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรม และรวมกลุ่มกันในรูปของสหกรณ์
โดยรัฐบาลอิสราเอลได้ให้ความช่วยเหลือ ส่งผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาชนบทสาขาต่าง ๆ มาให้คำแนะนำด้านการทำเกษตร ภายใต้ชื่อ “โครงการไทย – อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบทหุบกะพง” เมื่อ 19 สิงหาคม 2509 ถึง 18 สิงหาคม 2514 รวมระยะเวลา 5 ปี ก่อนจะอพยพครอบครัวเกษตรกร จำนวน 83 ครอบครัว และเกษตรกรที่อาศัยในพื้นที่เดิม 48 ครอบครัว เข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดตั้งศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพง เพื่อดูแลงานต่างๆ สืบต่อจากโครงการไทย – อิสราเอล มีภารกิจหลัก 7 ด้าน ได้แก่ งานจัดสรรที่ดินและการทำประโยชน์ในที่ดิน งานด้านระบบชลประทานและจัดระบบการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ งานด้านการสาธิตและทดลองการเกษตร งานการส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการพระราชประสงค์หุบกะพง ดูแลช่วยเหลือการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ ซึ่งในหมู่บ้านหุบกะพง ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2519 และได้รับพระราชทาน ใบทะเบียนสหกรณ์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2519 มีสมาชิกแรกเริ่มต้น จำนวน 83 ครอบครัว ปัจจุบันมีสมาชิก 465 ครอบครัว นอกจากนี้ยังมีงานด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ งานบริการสวัสดิการชุมชนและอื่น ๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในหมู่บ้านและงานด้านการบริหารบุคคลและการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกะพงได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและสหกรณ์ มีอาคารแสดงนิทรรศการภาพพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาดิน ชลประทาน ฝนหลวง พัฒนาพันธุ์พืช และการส่งเสริมงานสหกรณ์ พร้อมทั้งมีแปลงสาธิตการปลูกพืช อาทิ ข้าว เมล่อน ทับทิม และหน่อไม้ฝรั่ง และศูนย์เรียนรู้จากเกษตรกรต้นแบบที่อยู่ภายในหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง โดยทางศูนย์สาธิตโครงการสหกรณ์หุบกะพง ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพและอยู่ในความดูแลของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด จำนวน 10 กลุ่ม สมาชิกรวม 208 คน ประกอบด้วย 1. กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยบ้านหุบกะพง มีสมาชิก 25 ราย 2. กลุ่มสตรีศิลปาชีพ (พิเศษ) แปรรูปผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ 20 ราย 3. กลุ่มสตรีผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน 10 ราย 4. กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน หมู่ที่ 8 บ้านหุบกะพง 13 ราย 5. กลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน หมู่ที่ 10 บ้านหุบกะพงพัฒนา 27 ราย 6. กลุ่มผู้เลี้ยงแพะบ้านหุบกะพง 27 ราย 7. กลุ่มผู้ผลิตน้ำส้มควันไม้ 20 ราย 8. กลุ่มผู้ปลูกผักวิถีอินทรีย์บ้านหุบกะพง 21 ราย (ไฮโดรโปรนิกส์) 9. กลุ่มแม่บ้านหุบกะพง (สาขาทำขนม) 25 ราย และ 10.กลุ่มสตรีสาขาแปรรูปน้ำผลไม้ 20 ราย
“กลุ่มเกษตรกรที่นี่มีหลายกลุ่ม ที่เกษตรกรได้รวมตัวกันปลูกผักอินทรีย์ เลี้ยงแพะ เลี้ยงโคขุน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำเพียงพอก็ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชได้ตลอดฤดูกาล โดยเราได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชผักที่ตลาด ต้องการ สามารถขายได้ราคา ส่วนหนึ่งเรามีตลาดที่ทางสหกรณ์สร้างไว้เป็นตลาดชุมชนเกษตรกรสามารถนำผลผลิตของตัวเองไปขายตรงนั้นได้ ก็ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์หุบกะพงก็เป็นศูนย์เรียนรู้ที่เราสร้างขึ้นมา เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่เขาได้มาเรียนรู้ในเรื่องของการทำการเกษตรแบบปราณีตหรือเกษตรแบบแม่นยำใช้น้ำน้อย หรือว่าเป็นเกษตรแบบอินทรีย์ ในพื้นที่ของศูนย์เรียนรู้จะมีฐานต่างๆ ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การแปรรูปผลผลิต หรือนำวัสดุสิ่งเหลือใช้ในการเกษตรมาทำเป็นปุ๋ยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ ทำเป็นน้ำหมักเพื่อที่จะเอาไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของเขา ซึ่งปีนี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ก็จะเปิดให้เกษตรกรหรือประชาชนที่สนใจเรื่องของโครงการพระราชดำริต่างๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ได้มาเอาความรู้กลับไปและเอาไปใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเองได้” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ปัจจุบันการดำเนินโครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงดำเนินงานมาเป็นระยะเวลากว่า 57 ปี และตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (เปลี่ยนพระนามโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561) สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงพระเมตตาสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนา เกษตรกรและสมาชิกผู้อยู่อาศัย ในโครงการฯ ท้ังปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราษฏรในโครงการฯ มีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ตามที่มีพระราชปณิธานจะสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการฯ ให้หุบกะพง เป็น “หมู่บ้านตัวอย่าง” พัฒนาหมู่บ้านให้ครบวงจร ให้เป็นต้นแบบแก่พื้นที่อื่น ๆ ภายใต้ชื่อ “หมู่บ้านสหกรณ์โครงการหุบกะพง” ตามที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต มอบอำนาจการจัดที่ดินทั้ง 3 โฉนดในพระปรมาภิไธย ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับ สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ร่วมกันดูแลรักษาที่ดินของหุบกะพง ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน จึงนับได้ว่าหมู่บ้านสหกรณ์หุบกะพง ตั้งอยู่บน “แผ่นดินของพระราชา” ที่ช่วยสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีที่ดินทํากิน มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีอาชีพที่มั่นคง พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพงยัง ช่วยต่อยอดผลผลิตของเกษตรกรที่มีอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทําให้มีเงินหมุนเวียน ในชุมชน และนำหลักและวิธีการสหกรณ์เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สมดั่งพระราชประสงค์ของพระองค์อย่างแท้จริง