ธ.ก.ส. ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการภาคเอกชน มุ่งนํานวัตกรรมขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย
ธ.ก.ส. ร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการภาคเอกชน มุ่งนํานวัตกรรมขับเคลื่อนภาคเกษตรไทย (นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ)

ธ.ก.ส. ร่วมลงทุนบริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จํากัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Farmbook ที่ช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิตพืชผักอาหารปลอดภัยในลักษณะซื้อขายล่วงหน้า และ บริษัท อินฟิวส์ จํากัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ที่ช่วยอํานวยความสะดวกในการบันทึกแปลงที่ดินของเกษตรกรและแจ้งการขอชดเชยค่าสินไหม หนุนการนำเทคโนโลยีด้านการเกษตร เข้ามาร่วมพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิตและการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรมอื่น ๆ และมีอุดมการณ์ในการพัฒนาภาคเกษตร แต่ขาดโอกาสในการเพิ่มทุนให้เข้ามาร่วมงานกับ ธ.ก.ส. มากขึ้น    

นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เกษตรกรรายย่อยให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmer) รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพองค์กรและชุมชน โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนนอกเหนือจากการให้สินเชื่อในรูปแบบปกติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยการกู้ยืม (Debt Financing) และบางธุรกิจ มีลักษณะการดำเนินกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) แต่ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเกษตร ธ.ก.ส. จึงได้ขับเคลื่อนแนวทางการทำธุรกิจ ภายใต้โครงการร่วมทุน (Venture Capital) กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรไทย เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการมีทุนในการดำเนินธุรกิจในระยะแรกและสามารถยกระดับไปเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ในสัดส่วนร่วมลงทุนไม่เกิน ร้อยละ 49 ของจํานวนหุ้นหลังการระดมทุน ระยะเวลาร่วมลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี โดย ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ และนำเสนอผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย ได้แก่

1) บริษัท คิว บ็อกซ์ พอยท์ จํากัด ซึ่งประกอบธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรภายใต้แพลตฟอร์ม “Farmbook” ที่ช่วยเกษตรกรวางแผนการผลิตให้สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ในลักษณะซื้อขายล่วงหน้า โดยเฉพาะในด้านการผลิตพืชผักอาหารปลอดภัย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวนอกจากเชื่อมโยง กลุ่มผู้ผลิตไปยังตลาดสำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ยังสามารถดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิต ทำให้ผู้ขายและผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพ ความปลอดภัยและพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น คาดว่าตลอดระยะเวลาการร่วมลงทุนจะมีกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมใช้บริการในแพลตฟอร์มดังกล่าวกว่า 1,300 กลุ่ม โดยวางเป้าหมายสร้างรายได้สู่กลุ่มเกษตรกรประมาณ 1,200 ล้านบาท

2) บริษัท อินฟิวส์ จํากัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” ที่ช่วยอํานวยความสะดวกให้กับเกษตรกรในการบันทึกแปลงที่ดิน และสามารถแจ้งการประสบภัยเพื่อขอชดเชยค่าสินไหมทดแทน กรณีเอาประกันภัยพืชผลทางการเกษตรได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ อีกทั้งบริษัทได้เตรียมแผนขยายระบบการบริหารจัดการแปลงเกษตรอย่างครบวงจร เพื่อให้เกษตรกรสามารถเชื่อมโยงกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ในการลดความเสี่ยงด้านการผลิตและสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ดีขึ้น โดย ธ.ก.ส. จะสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ทำประกันภัยผ่าน ธ.ก.ส. เข้าร่วมใช้บริการดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงด้านการผลิต

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส. พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็น Startup รายอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์ในการพัฒนาภาคการเกษตร มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับการผลิตและเป็น หัวขบวนในการนำการเปลี่ยนแปลงให้กับคนในชุมชน หรือเป็นกลุ่มวิสาหกิจ ที่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมาย มีนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร มีโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงาน ต่าง ๆ รวมถึงมีแผนธุรกิจ (Business Plan) ที่มีความเหมาะสมตามคุณลักษณะและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาศักยภาพชุมชนในแต่ละภูมิภาค อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป.

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated