นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในงานประชุมเสวนา เรื่อง “ปฏิรูปภาคการเกษตร พัฒนาคน สู่การพลิกโฉมการเรียนการสอน” ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า วิกฤตการณ์ของโลกหลายเรื่องที่เราเผชิญอยู่ สรุปกว้างๆได้ 3 เรื่อง คือ วิกฤตการณ์โลกร้อน ที่นับวันจะหนักหน่วงมากขึ้น มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตร ชัดเจนเวลานี้คือภัยธรรมชาติ จะรุนแรงและจะถี่มากขึ้น ภัยแล้งก็หนัก น้ำมากก็ล้นเกินเหลือ วิกฤตการณ์โรคระบาด สภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไปส่งผลให้สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ เช่นเดียวกับเชื้อโรคกลายพันธุ์ ต้นไม้เปลี่ยนสีและมีความหลากหลายมากขึ้น สิ่งมีชีวิตบนโลกรวมทั้งพฤติกรรมของประชาชาติและมนุษย์ก็เปลี่ยนไปด้วย วิกฤตการณ์เรื่องความขัดแย้งด้านการค้าไร้พรมแดน ส่งผลกระทบกับเกษตรกรทั่วโลกโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่แข่งขันไม่ได้ เช่น การเข้าร่วมอนุสัญญา CPTPP ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด ประเทศที่พัฒนาแล้วพยายามเจาะทะลวงตลาดใหม่ เราจะปกป้องเกษตรกร/ประชาชนของเราได้น้อยลงจนวันหนึ่งก็จะปกป้องไม่ได้เลย วิกฤตเหล่านี้จะเป็นประเด็นท้าทายให้มหาวิทยาลัยว่าจะฝ่าฟันและก้าวข้ามไปอย่างไรอย่างมีคุณภาพและมีสติ หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันตามยุคตามสมัยได้จะกลายเป็นโบราณวัตถุ คนชื่นชมแต่ไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประเทศชาติได้ อย่างไรก็ตาม วิกฤตทั้ง 3 เรื่องยังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร 4 สาขา ได้แก่ สาขาพืชไร่ ผลกระทบมากที่สุด ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด พืชอายุสั้นที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติ กระทบต่อเกษตรกรและเป็นภาระของประเทศตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคตอีกยาวนาน งบประมาณแผ่นดินในการเยียวยาให้เกษตรกรกลุ่มนี้ในแต่ละปีการผลิตจำนวนมากจนตกใจ และไม่สามารถแข่งขันได้เพราะประเทศคู่แข่งล้วนแต่เป็นประเทศเปิดใหม่ เพื่อนบ้านรอบอาเซียนผลิตได้เหมือนกัน ต้นทุน ที่ดิน ค่าแรงถูกกว่า การจะฉีกตัวหนีให้พ้นคู่แข่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยน่าจะพอคิดได้ว่าจะทำอย่างไรทั้งในเชิงคุณภาพ ปริมาณ รวมทั้งค้นหา วิจัยสายพันธุ์ใหม่ที่โดดเด่นหนีคู่แข่งให้ได้ต่อไป ลำดับต่อมา สาขาพืชสวน เกษตรกรกลุ่มนี้ค่อนข้างมีฐานะ แต่ยังต้องการความรู้ใหม่เพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ สายพันธุ์ใหม่ เพราะคู่แข่งเริ่มผลิตตามมากขึ้น เช่น ทุเรียน สาขาปศุสัตว์ มีผลกระทบบ้างแต่ยังเป็นสาขาที่เป็นความหวังอยู่ เช่น สัตว์เล็ก กับสถานการณ์การค้าโลกที่ระบบการขนส่งถูกปิดกั้นพอสมควร สัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่ ไก่เนื้อมีปัญหาเรื่องอุปสงค์และอุปทานที่มีผลกระทบกับราคาตลาดในประเทศ ด้านไข่ราคาจะแกว่งมาก ส่วนเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงทั้งภาคอีสานคือ ตลาดนัดโค-กระบือ ที่ซื้อ/ขายด้วยเงินสดและแต่ละที่มีเงินหมุนเวียนหลายร้อยล้านบาท เสียดายที่ตอนนี้ตลาดปิด และ สาขาประมง การเลี้ยงปลาในกระชังเกิดความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม ขณะที่อุตสาหกรรมกระทบด้านระบบขนส่งและตลาดปิด แต่ราคาดีต่อเนื่อง
“เมื่อเร็วๆได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ท่านถามว่า ประเทศไทยการเกษตรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร? คำถามนี้ถือว่าใหญ่มาก ผมเสนอแนะพร้อมยกตัวอย่างไปว่าสภาเกษตรกรฯพยายามที่จะปรับเปลี่ยนการผลิตของประเทศให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง เช่น ภาคใต้ทำสวนยางพารา ปาล์ม ให้เลี้ยงแพะ ปลูกหญ้าหรืออื่นๆ ภาคเหนือ/อีสานพื้นที่ทำนา/ข้าวโพด/แล้งน้ำ ให้เลี้ยงแพะ/โค/กระบือ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ไผ่ ชิงชัน พะยูง เป็นต้น เราเน้นรูปธรรมของการทำงานคิดได้แล้วทำเลย ไม่มีใครทำสภาเกษตรกรแห่งชาติทำให้ดูเป็นตัวอย่างนำร่องทุกพื้นที่ นายกรัฐมนตรีรับฟังและเห็นด้วยพร้อมกับให้ทำแผนเสนอโดยท่านเป็นผู้กำหนดโครงการ “Sandbox ปศุสัตว์”
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำแผนเสนอรัฐบาล อย่างไรก็ตามแล้วมหาวิทยาลัยท้ายที่สุดต้องการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสามารถตอบสนองต่อปัญหาประเทศชาติแล้วก็อนาคตของตัวเขาเองได้ สร้างสังคมที่ดีให้กับประเทศไทยได้ ที่จริงเวลานี้เหมาะมากมนุษย์เปลี่ยนได้และสิ่งที่ทำให้เปลี่ยนมีไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือวิกฤตการณ์ ถ้าเผชิญแล้วเริ่มคิดทบทวนตัวเองค่อยเริ่มเปลี่ยน ถ้าไม่ทบทวนและไม่เปลี่ยนโอกาสก็จะหมดไปวิกฤตการณ์ก็จะกลับมาเหมือนเดิมและหนักกว่าเดิม เปลี่ยนได้พร้อมกับคุณภาพใหม่ที่ดีกว่าและใหญ่กว่าเดิม” นายประพัฒน์ กล่าว
ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อไปอีกว่า วิกฤตตการณ์ของชาติตอนนี้เป็นโอกาสใหญ่ การเรียนตามหลักสูตรในตำรายังมีความจำเป็นแต่เรื่องการปรับปรุงหลักสูตรที่เหมาะสม เรื่องความรู้นอกห้องเรียนนั้นสำคัญมากเพราะจะทำให้เด็กจบใหม่สามารถที่จะเปิดโลกทัศน์ที่กว้างขวาง รู้จักค้นคว้ามากขึ้น มีตำราหรือหนังสือเล่มไหนที่น่าอ่านให้เข้าใจเพื่อนำมาประกอบการมีชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้ก็น่าส่งเสริม มีความรู้ที่พึงไปแสวงหาก็น่าชี้เป้า การเรียนให้ได้เกรดดีๆไม่ยาก แต่การทำให้เด็กจบมาพร้อมกับความพร้อม ความเป็นผู้นำคน ความพร้อมในการท้าทายตัวเองที่จะเป็นผู้ประกอบการให้ได้ เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่เชื่อมั่นว่าทำได้ รัฐบาลกำลังกระตุ้นให้เกิด start up ด้วยหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้มากกว่านี้แต่อาจจะยังไม่มีรูปธรรม หากมีการร่วมมือกันกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็จะทำให้มีโอกาสเกิดรูปธรรมขึ้นได้
“การส่งมอบบัณฑิตต่อไปให้กับ สสว. ธกส.หรือว่าสภาเกษตรกรฯ เข้าช่วยดูแลบ่มเพาะจนเขาเข้มแข็ง เชื่อว่าจะทำให้บัณฑิตจบมาพรั่งพร้อมไปด้วยคุณภาพและจิตวิญญาณ สิ่งสำคัญคือต้องเสริมจิตใจให้เข้มแข็งกล้าเผชิญกับทุกปัญหา กำหนดเป้าหมายในชีวิตให้ได้แล้วเดินไป อุปสรรคกีดขวางก็พร้อมที่จะคลี่คลาย ถ้าหากมีปัญหา เขาจะรู้ว่าใครบ้างที่พร้อมจะเป็นเพื่อนร่วมทาง มหาวิทยาลัยเป็นความคาดหวังของสังคมและจะเป็นผู้นำในการทำให้ภาคเกษตรของไทยยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างมีคุณภาพและเป็นที่พึ่งของเกษตรกรได้ในอนาคต” ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวปิดท้าย