มาวังน้ำเขียวเที่ยวนี้ทำให้ได้รู้ว่าที่นี่มีสวนไม้ประดับ “สับปะรดสี” ใหญ่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ชื่อว่า “สวนสับปะรดสี บ้านพระอังคาร” ตั้งอยู่ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา สวนแห่งนี้เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ พ.ต.ต.นิรันทร์ ถวัลย์ภูวนาถ สวป.สภ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่ใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริม ด้วยการเพาะพันธุ์สับปะรดสีขายสร้างรายได้งาม พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ผู้ที่สนใจแวะเวียนมาไม่ขาดสาย
โดยสวนแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
พ.ต.ต.นิรันทร์ เล่าว่า ตนเองนั้นเป็นคนชอบปลูกต้นไม้และศึกษาต้นไม้ต่างๆ จนมาสดุดตากับสับปะรดสี ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ประดับชนิดหนึ่งที่มีความหลากหลายในสายพันธุ์และสีสันสดใสสวยงาม อีกทั้งสับปะรดสีเป็นไม้ที่ดูแลง่าย ทนต่อสภาพแล้งได้เป็นอย่างดี จึงมองว่าสับปะรดสีน่าจะเป็นพันธุ์ไม้หนึ่งที่สามารถเพราะขายเป็นธุระกิจได้ในอนาคต โดยได้เริ่มต้นปลูกและลงทุนปลูกอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้
“อันดับแรกเกิดจากความชอบก่อน พอชอบก็มาศึกษาอย่างจริงจัง จากนั้นเปิดเป็นสวนเป็นร้านขึ้นมา พอคนมาเห็นเขาถ่ายรูปไปลงโซเชียลหรือส่งให้เพื่อน ทุกคนที่มาเหมือนเป็นนักข่าวให้เรา แล้วทีนี้คนสนใจเขาก็มาเที่ยวมาซื้อกัน”
กลุ่มลูกค้านอกจากจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่สวนแล้ว ยังมีกลุ่มที่มาเรียนรู้ มาศึกษาดูงาน และซื้อกลับไปปลูกหรือไปขยายพันธุ์ และอีกกลุ่มจะเป็นแม่ค้าออนไลน์ทั่วประเทศที่เขาเองไม่สามารถจะทำแปลงปลูกให้มีขนาดใหญ่ได้ แต่เอาสินค้าของเราไปขาย ซึ่งก็ถือว่าได้สร้างงานสร้างอาชีพให้กับเขาได้ โดยลูกค้าที่ซื้อผ่านออนไลน์ถือเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นทุกวัน แต่ก่อนจะทำอาชีพปลูกไม้ดอกไม้ประดับจะต้องอาศัยทำเล ต้องมีร้านของตัวเอง แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้วสามารถเอาไปขายได้เลย แต่เราต้องซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งคือส่งออกไปต่างประเทศ โดยลูกค้ารายใหญ่จะอยู่ที่มาเลเซีย และเวียดนาม โดยที่เวียดนามเป็นนักจัดสวนรายใหญ่ และสับปะรดสีเหมาะแก่การขนส่งทางไกลแค่ล้างรากให้สะอาดผึ่งให้แห้งก็ห่อและบรรจุลงกล่องได้
สำหรับการลงทุนนั้นพ.ต.ต.นิรันทร์ เปิดเผยว่า ครั้งแรกได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 5 แสนบาท ต่อมาขยายพื้นที่ปลูกจาก 1 ไร่ เป็น 3 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนเพิ่มอีก 8 แสนบาท ซึ่งรายได้ถือว่าอยู่ได้อย่างน้อยก็พอเลี้ยงลูกน้องได้
“ผมอยากฝากไปยังผู้ที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพ ขอให้ทำอย่างจริงจัง อย่างผมนั้นเกิดขึ้นจากความชอบก็สะสมพันธุ์สับปะรดสีเรื่อยมา จนปัจจุบันมีประมาณ 50 สายพันธุ์ พันธุ์ที่ขายดี(พันธุ์ตลาด)ก็มีไม่กี่สายพันธุ์ แต่เราจำเป็นต้องมีความหลายหลาย ซึ่งจริงๆก็ยังมีพันธุ์มากกว่านี้ เราต้องมีโรงเรือน แต่ก็ไม่ต้องสร้างแบบโครงสร้างเหล็กเหมือนกับผมตอนแรก เราสามารถทำเป็นลวดสลิง ซึ่งจะลดต้นทุนได้มากกว่า โดยทางสวนของผมพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ที่ต้องการสร้างงานสร้างอาชีพด้วยสับปะรดสีทุกคน”
“สุดท้ายอยากฝากขอบคุณธ.ก.ส.ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ข้าราชการชั้นผู้น้อยในการทำอาชีพเสริม เพราะว่าข้าราชการสมัยนี้รายได้ไม่มาก ถ้าไม่มีอาชีพเสริมนี้ก็ลำบากเหมือนกัน ธ.ก.ส.ให้เงินมาก้อนหนึ่งเราก็ทำเล็กๆก่อน ขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ก็จะมีพันธุ์มากขึ้นและแบ่งขายได้ และเมื่อปีที่แล้วเขาก็ให้มาอีกก้อนหนึ่งเพื่อขยายกิจการ ก็ทำให้เลี้ยงตัวเลี้ยงลูกน้องได้”
“ใครที่ไม่มีเงินทุน..ผมก็บอกว่าไม่ต้องติดขัด ขอให้ทำให้จริงและก็ให้ไปหาไปติดต่อธ.ก.ส.เขามีบริการด้านการเงินมากมาย และขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ช้า ทันต่อความต้องการของเราเลยครับ” พ.ต.ต.นิรันทร์ กล่าวย้ำ
อนึ่ง ในการมาเยี่ยมชมสวนสับปะรดสี บ้านพระอังคารครั้งนี้ ทางทีมงานธ.ก.ส. ซึ่งนำโดย นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ นายอรุพงษ์ เพชรสุข ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาลูกค้าสถาบันและองค์กรชุมชน (สพส.) และทีมงานสำนักประชาสัมพันธ์ (สปส.) นำคณะสื่อมวลชนจากหลายสำนักมาทำข่าว โดยมี นายวิจิตร ศรีสมศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พร้อมด้วย ผอจ.นครราชสีมา ผู้บริหาร และพนักงาน ธ.ก.ส. สาขาวังน้ำเขียวให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 26-27 พฤศจิกายน 2564
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ที่นำสื่อมวลชนมาเยี่ยมชมเกษตรกรลูกค้าในครั้งนี้ นอกจากสวนสับปะรดสีบ้านพระอังคารแล้ว ยังมีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์มวังน้ำเขียว ผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อนและกัญชา และสหกรณ์กสิกรรมไร้สารพิษวังน้ำเขียว จำหน่ายผักและผลไม้เกษตรอินทรีย์
โดยการนำทีมสื่อมวลชนลงพื้นที่ครั้งนี้ นอกจากการช่วยนำเสนอข่าวเพื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่เกษตรกรแล้ว จะเป็นเสมือนเป็นการส่งสัญญานว่า ธ.ก.ส.ห่วงใยผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมไปถึงเกษตรกรไทยทุกคน และสิ่งที่ผู้บริหารได้ย้ำตลอดเวลาในการเดินทางทางไปแต่ละจุดที่ไปเยี่ยมชมคือ พร้อมสนับสนุนและเดินเคียงข้างเกษตรกรตลอดไป