คาร์กิลล์ผนึกกำลัง UNDP-มรภ.สุราษฎร์ธานี ลดขยะเพื่อทะเลสวย สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
นางสาวมาร์โก เดอ นาราย (ซ้าย) และนายเรอโนด์ เมแยร์ (ขวา)

โครงการ “SeaShine” ชวนชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทาง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างรายได้เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชน

คาร์กิลล์ ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลก ประกาศเปิดตัวโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “SeaShine” โดยร่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program หรือ UNDP) และมหาวิทยาลัยราชภัฎ สุราษฎร์ธานี จัดโครงการลดปริมาณขยะเปียกและขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล พร้อมทั้งสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ชุมชนชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย

โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2565 โดยคาร์กิลล์ UNDP และ มรภ.สุราษฎร์ธานี จะร่วมกันสร้างระบบนิเวศเพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน โครงการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนจัดเก็บและคัดแยกขยะ รวมถึงถุงอาหารสัตว์เพื่อนำมาแลกประโยชน์ที่ส่งเสริมความยั่งยืนต่อไป

ความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ มรภ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีปริมาณมากถึง 63 ตันต่อเดือน และเป็นปัญหาใหญ่ที่มหาวิทยาลัยและชุมชนประสบมานาน โครงการนี้จะจัดสร้างสถานีการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal Station) หรือสถานี SDG บนพื้นที่ 3 ไร่ภายในมหาวิทยาลัย  พร้อมกันนั้น จะมีการสอนให้ประชาชนในชุมชนรอบ ๆ ได้รู้จักคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และนำมาขายให้แก่สถานี SDG เพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะมีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รวมทั้งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่จากการขายขยะ ตลอดจนลดปริมาณขยะที่อาจถูกทิ้งลงไปในทะเล ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยและนักศึกษาจะสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะจากประสบการณ์จริงได้อีกด้วย

นางสาวมาร์โก เดอ นาราย กรรมการผู้จัดการ คาร์กิลล์ โภชนาการอาหารสัตว์น้ำ ประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า “คาร์กิลล์มีส่วนร่วมในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาชุมชนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของเราและประเทศไทยมีความแน่นแฟ้นมากขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกโดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดการความท้าทายยิ่งใหญ่ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของคาร์กิลล์ที่จะสร้างพันธมิตรและร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทะเล และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่จะส่งเสริมความสมบูรณ์ของโลกอย่างปลอดภัย ด้วยความรับผิดชอบ และด้วยแนวทางที่นำไปสู่ความยั่งยืน”

ในช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากมาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศ และการทำงานที่บ้าน สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของ มรภ.สุราษฎร์ธานีเอง คาดว่าปริมาณขยะที่จะต้องถูกฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียงจะมีมากถึง 426 ตันในปี 2564 นี้

คาร์กิลล์ผนึกกำลัง UNDP-มรภ.สุราษฎร์ธานี ลดขยะเพื่อทะเลสวย สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
นายเรอโนด์ เมแยร์ (ซ้าย) และผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม (ขวา)

นายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนยูเอ็นดีพีประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ยูเอ็นดีพียินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับคาร์กิลล์ในการดำเนินโครงการสำคัญซึ่งเป็นนวัตกรรมในการกำจัดขยะเช่นนี้ การลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะเปียกจะช่วยให้ชุมชนชายฝั่งทะเลมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระยะยาว โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDG ภายในท้องถิ่นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”

ในการดำเนินโครงการดังกล่าว หน่วยงานด้าน SDG และนักศึกษาอาสาสมัครจะทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบไอทีเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับขยะของคนในชุมชนเป็นรายคน ก่อนจะนำข้อมูลนั้นมาแปลงเป็นประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก และปริมาณขยะที่นำมารีไซเคิล เป็นต้น และแสดงผลข้อมูลบนแดชบอร์ดที่เปิดให้ทุกคนได้เห็น และติดตามความคืบหน้าของโครงการได้สะดวก

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated