“ทุกวันนี้เกษตรกรเป็นคนยุคใหม่ มีความต้องการสิ่งใหม่ ๆ ที่แปลกไปจากเดิม มีความเป็นแพชชั่น (Passion) สูงมาก เพราะฉะนั้นการทำงานในโครงการพระราชดำริก็จะต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้สามารถตอบโจทย์คนยุคใหม่ให้ได้มากขึ้น ถ้าเรายังไม่ปรับตัวก็คงจะเข้ากับยุคสมัยของผู้คนในปัจจุบันไม่ได้ เราจึงต้องทำงานให้เข้ากับเกษตรกรยุคสมัยใหม่”
นายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร กล่าวขณะที่สายตาทอดยาวไปยังสุ่มไก่ภายในมีไก่รูปลักษณ์สวยงามอยู่หลายตัวทั้งเพศผู้และเพศเมีย
จากที่หลายคนเพ่งพินิจพิจารณาที่ขนบนตัวไก่ ต่างบอกว่า ช่างไม่ต่างกับนกเหยี่ยว ด้วยมีตาสีดำ จะงอยปากดำ หงอนถั่ว แข้งดำ เล็บดำ และสีสันบนลำตัวที่เป็นสีหวายดำแซมน้ำตาลขึ้นเงามันวาวขณะที่หางตั้งแบบแผ่กระจาย ขนเหมือนกับเหยี่ยวจะมองเหมือนขนแฟนซีก็ได้
“ทั้งนี้ได้ใช้เวลา 3 ปี ในการพัฒนาพันธุ์ระหว่างไก่ดำภูพาน 1 – 2 และ 3 เป็นไก่ดำภูพาน 4 คัดเลือกลักษณะสีขน จนได้ขนสี “หวายดำ” หรือน้ำตาลอ่อนแซมด้วยหวายดำ แต่ยังคงลักษณะที่โดดเด่นของไก่ดำภูพาน คือ หนังดำ เนื้อดำ กระดูกดำ เลี้ยงง่าย ของเหลือบริโภคในครัวเรือนไก่สามารถกินได้หมด โตเร็ว ทนทานต่อโรคระบาด และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และยังเพิ่มเติมลักษณะพิเศษมากขึ้นอีก คือให้ไข่ดกมากขึ้นกว่าเดิม โดยให้ไข่ได้ปีละ 125 – 130 ฟอง เกษตรกรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 ไก่รุ่นนี้สามารถตอบโจทย์นี้ได้เลย เลี้ยง 4 – 5 ตัว ก็มีไข่ไว้บริโภคได้ตลอด และยังให้ความเพลิดเพลินจากลักษณะสีขนสวยงามอีกต่างหาก” นายสัตวแพทย์วิสุทธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ในงานครบรอบ 39 ปีศูนย์ฯ ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้จัดการฝึกอบรมออนไลน์ 3 หลักสูตร ได้แก่ กระต่ายดำภูพาน ไก่ดำภูพาน และโคเนื้อภูพาน ผ่านระบบออนไลน์ (ZOOM) หลักสูตรละ 93 คน ซึ่งเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจเข้าอบรมเป็นจำนวนมาก มีการลงทะเบียนจองเต็มทุกที่นั่ง ภายในเวลาไม่ถึง 40 นาที และเมื่ออบรมเสร็จจะ ได้รับใบประกาศนียบัตร และพันธุ์สัตว์จัดส่งตรงถึงที่บ้านอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเยี่ยมชมไก่ดำภูพานรุ่นที่ 4 ได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ หรือจะขอรับพันธุ์ไก่ไปเลี้ยงต่อก็ได้ เงื่อนไขเดียวคือต้องมีใจรัก รักในการเลี้ยงไก่ และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ส่งมอบเผยแพร่ต่อแก่ผู้อื่นที่สนใจ เพียงนำบัตรประชาขนเพื่อยืนยันตัวตนใบเดียว มอบให้ฟรี ๆ เท่านี้ก็รับไก่ไปเลี้ยงได้เลย”
ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ค้นหารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม ในลักษณะ “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2525 โดยสำนักงาน กปร. ได้สนองพระราชดำริให้การสนับสนุนงบประมาณ ติดตามการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โครงการสามารถพัฒนาไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชน และเป็นไปตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด
ปัจจุบันดำเนินงานมาครบรอบ 39 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ได้มมีการจัดงานในลักษณะ Virtual Exhibition นิทรรศการเสมือนจริง โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐองคมนตรี ประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นประธานพิธีเปิดงาน ในชื่องาน “39 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ สืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาชีวิตที่ยั่งยืน” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และหน่วยงานร่วมร่วมกันจัดขึ้น