ระยะนี้อากาศเย็นลงและมีฝนตกบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกทานตะวันเฝ้าระวังการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย สามารถพบได้ในระยะต้นกล้า โดยจะพบการเข้าทำลายของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายพืชด้วยการดูดน้ำเลี้ยงจากใบทานตะวัน ขณะเดียวกันแมลงจะปล่อยสารพิษเข้าไปในใบพืช ทำให้ขอบใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไหม้และงอลง ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่า hopper burn หากระบาดรุนแรง ใบทานตะวันจะเหี่ยวแห้งและร่วงไปในที่สุด กรณีที่พบการเข้าทำลายในระยะต้นกล้า จะส่งผลทำให้ต้นทานตะวันชะงักการเจริญเติบโต และต้นแคระแกรนไม่เจริญเติบโต
แนวทางการป้องกันและกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในต้นทานตะวัน เกษตรกรควรหมั่นสุ่มสำรวจต้นทานตะวันทุกสัปดาห์ หากพบตัวอ่อนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายมากกว่า 2 ตัวต่อใบ ในระยะที่ต้นทานตะวันอายุไม่เกิน 45 วัน ให้เกษตรกรพ่นป้องกันกำจัดด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 70% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดโนทีฟูแรน 10% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 2 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารบูโพรเฟซิน 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
เฝ้าระวังเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในทานตะวัน มีวิธีป้องกันได้