กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ม.ราชภัฏสกลนคร พัฒนาการเรียนการสอน ส่งเสริมงานวิจัย สนับสนุนทำเกษตรตามความต้องการของพื้นที่
กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ ม.ราชภัฏสกลนคร พัฒนาการเรียนการสอน ส่งเสริมงานวิจัย สนับสนุนทำเกษตรตามความต้องการของพื้นที่

วันที่ 20 มกราคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ว่าด้วยการพัฒนาวิชาการด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ชาคริต ชาญชิตปรีชา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นผู้ลงนามฝ่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ เป็นการร่วมมือเพื่อพัฒนาทางวิชาการในด้านการเรียนการสอน การวิจัย วิชาการส่งเสริมการเกษตร วิชาการเกษตร และงานวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มุ่งให้นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และเกษตรกร ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและสินค้าทางการเกษตร โดยร่วมกันพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเป็นผู้ประกอบการเกษตรรวมทั้งร่วมกันผลักดันและส่งเสริมการดำเนินงานในการพัฒนาด้านการวิจัยวิชาการ

สำหรับการดำเนินงานนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะให้การสนับสนุนบุคลากรและทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการพัฒนาด้านการเรียนการสอน ส่งเสริมให้ให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติการจริง ในพื้นที่ของเกษตรกร ศูนย์ปฏิบัติการกรมส่งเสริมการเกษตร หรือพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลักสูตรระยะสั้นตามกรอบการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย และ ระบบการเรียนแบบ Modular System ทั้ง 7 Module ได้แก่ 1.นักจัดการธุรกิจพืชเศรษฐกิจสมัยใหม่ 2.นักจัดการธุรกิจปศุสัตว์สมัยใหม่ 3.นักการตลาดธุรกิจการเกษตรยุคดิจิทัล (การตลาดออนไลน์) 4.นักจัดการ ธุรกิจการประมงสมัยใหม่ 5.ผู้ประกอบการเกษตรสมัยใหม่ 6.นักจัดการธุรกิจการเกษตรชุมชนสมัยใหม่ และ 7.บูรณาการบริหารธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ รวมทั้งร่วมและนำงานวิจัยพร้อมใช้ของมหาวิทยาลัยขยายผลสู่เกษตรกร เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร เช่น การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงหนูพุก โครงการแก้จน “สกลนครโมเดล” เป็นต้น ตลอดจนร่วมทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ตามความต้องการของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานในอนาคตจะเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์แก่ภาคการเกษตรยิ่งขึ้น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามในครั้งนี้ ผู้ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่เพียงเกษตรกร ในจังหวัดสกลนครเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อพัฒนาความรู้ด้านการเกษตร เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ ให้เกิดการพัฒนาสู่เกษตรกร ครอบคลุมเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated