นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท จัดงานรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตรภาคกลางขึ้น ณ แปลงใหญ่ข้าว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เพื่อรณรงค์เน้นหนักให้เกษตรกรมีความตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียของการเผาในพื้นที่การเกษตร และนำเสนอทางเลือกที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งมีจังหวัดในความรับผิดชอบ 9 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี และชัยนาทมีพื้นที่การเกษตรประมาณ 7.62 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 3.8 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5.7 แสนไร่ มันสำปะหลัง 4.8 แสนไร่ และอ้อย 3.1 แสนไร่ โดยจากฐานข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีจุด Hotspot ในพื้นที่การเกษตรภาพรวม ระหว่างเดือน มกราคม – พฤษภาคม 2564 จำนวน 360 จุด คิดเป็นพื้นที่ 18,031 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ปลูกข้าว สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาในชุมชนต้นแบบ 12 ชุมชน และพบว่าหลายพื้นที่ประสบความสำเร็จทั้งลดการเผาและสร้างรายได้แก่ชุมชนจากการผลิตและจำหน่ายฟางก้อน ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจากใบอ้อย การเพาะเห็ดจากฟางข้าว ผลิตปุ๋ยหมัก และจำหน่ายน้ำหมักย่อยสลายตอซัง คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.5 ล้านบาทต่อปี
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2564 ภาพรวมทั้งประเทศ จากการสำรวจจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคมคม 2564 Gistda พบจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย จำนวน 12,705 จุด ลดลงจากเดิมในปี 2563 ซึ่งพบจุดความร้อน จำนวน 26,310 จุด คิดเป็นร้อยละ 51.71 โดยอยู่ในพื้นที่การเกษตร จำนวน 3,320 จุด ลดลงจากเดิมในปี 2563 จำนวน 6,285 จุด คิดเป็นร้อยละ 47.17 โดยในปี 2565 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่การเกษตรในเขตจังหวัดภาคกลางให้เป็นศูนย์หรือน้อยกว่าปี 2564 โดยใช้กลไกเครือข่ายเกษตรกร ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เครือข่ายอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และ CoF หรือเกษตรกรผู้นำ 1 ต่อ 10 ครัวเรือนเกษตรกร ทำหน้าที่สื่อสารสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักถึงผลกระทบของการเผาในพื้นที่การเกษตร และจัดงานรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อกระตุ้นสร้างการรับรู้ให้เกษตรกร นำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่การทำการเกษตรแบบปลอดการเผาเพิ่มมากขึ้น จนมีพื้นที่การเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นศูนย์ เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ รักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Model ด้านการเกษตร
ทั้งนี้ ภายในงานมีนิทรรศการถ่ายทอดความรู้ กิจกรรมสาธิตการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา ได้แก่ การแปรรูปของใช้และของประดับจากฟางข้าว การเพาะเห็ดจากฟางข้าว การอัดฟางก้อน การทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว การบริการด้านวิชาการ จากหน่วยงานภาคี ภาคราชการและภาคเอกชน ได้แก่ บริการตรวจวิเคราะห์ดินการผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช การผลิตและขยายพืชพันธุ์ดี เทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบลดโลกร้อน และเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวโดยการปรับพื้นที่ด้วยเลเซอร์ (Laser Leveling) ในนาข้าว เทคโนโลยีด้านเมล็ดพันธุ์และการปลูกข้าวโพดหลังนา นวัตกรรมอาหารเสริมพืช ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เทคโนโลยีด้านปุ๋ยและอาหารเสริมในไร่อ้อย ตลอดจนการส่งเสริมด้านการตลาด จากตลาดเกษตรกรจังหวัดชัยนาท ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เกษตรกรเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและเกิดจิตสำนึกตระหนักถึงผลเสียจากการเผา และมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา