สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกร ที่ได้รับการส่งเสริมการเกษตรจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) ในลักษณะกลุ่มเตรียมสหกรณ์ ต่อมาได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ประเภทการเกษตร และเปลี่ยนชื่อเป็น สหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด ดำเนินการธุรกิจ 4 ด่าน ประกอบด้วย ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่สมาชิก ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจแปรรูป ผลิตภัณฑ์ภาชนะจากธรรมชาติ (กาบหมาก) และ ธุรกิจรับฝากเงินออมทรัพย์

นายมาโนชย์  มิ่งขวัญธารากุล ประธานสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด เผยว่า สมาชิกสหกรณ์จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ เดิมทำไร่แบบหมุนเวียนต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการปลูกพืชผักเมืองหนาว ฟักทอง เสาวรส และไม้ให้ผลชนิดยืนต้น เช่น อโวคาโด 

นายมาโนชย์. มิ่งขวัญธารากุล ประธานสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด

“ขอขอบคุณสหกรณ์และโครงการหลวงที่ให้การสนับสนุนมา และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้สนับสนุนตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว และพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 10 ที่ทรงสืบสานต่อ ต่อจากรัชกาลที่ 9  ทำให้พวกเราได้อยู่ดีกินดี ได้รู้จักอาชีพที่มั่นคง จากเศรษฐกิจพอเพียง อยู่อย่างพอเพียง คือ ไม่ต้องไปเบียดเบียนคนอื่น หรือว่าใช้กินในสิ่งที่เราปลูก ทำในสิ่งที่เรารัก ทำให้บ้านเกิดเมืองนอนมีอาชีพที่ยั่งยืนขึ้นและมีฐานะที่มั่นคงขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาก็ดี โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร เพราะว่าชาวบ้านแถวนี้พื้นฐานมาจากเกษตรกรอยู่แล้ว ในส่วนนี้ที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือมาโดยตลอด ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น  แล้วก็ต้องขอขอบคุณจากใจของประชาชน” นายมาโนชย์  กล่าว

ด้าน นายบรมัตถ์  ทิพกนก ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ 7 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ได้นำองค์ความรู้จากโครงการหลวงเข้ามาขยายผลในพื้นที่ภายใต้แนวทางการรักษาป่า ไม่เผาไม่บุกรุกทำลาย พร้อมสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับผืนป่าด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจในร่มเงาต้นไม้ใหญ่ เช่น กาแฟ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกสหกรณ์ปลูกต้นหมากเพื่อจำหน่ายลูกและนำกาบหมากมาผลิตเป็นภาชนะ เช่นถ้วย ชาม สำหรับใส่อาหาร แทนการเอาไปเผาสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลูกหมากมีตลาดรองรับที่แน่นอนเนื่องจากสหกรณ์อยู่ใกล้กับศูนย์อพยพชาวพม่าที่นิยมบริโภคหมาก

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกณ์ กล่าวย้ำว่า การส่งเสริมสหรณ์ในทื้นที่โครงการหลวง ทางกรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 ต่อเนื่องต่อยอดมาจนถึงรัชกาลที่ 10 มีการสนับสนุนอุปกรณ์การตลาดเครื่องมือด้านการผลิตและแปรรูป เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในสหกรณ์โครงการหลวง ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นและในปัจจุบันได้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานสหกรณ์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด และร่วมกันวางแผนการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่โครงการหลวงกำหนด ควบคู่การพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการคิดการออกแบบการผลิต การแปรรูปสินค้า และบรรจุภัณฑ์ของสหกรณ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้โดดเด่น” นายวิศิษฐ์ กล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เผยเพิ่มเติมด้วยว่า ในทุกปีกรมส่งเสริมสหกรณ์จะจัดประกวดสหกรณ์และบุคคลดีเด่นในพื้นที่โครงการหลวงขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจของเกษตรกรสมาชิก และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่โครงการหลวง และเพื่อเป็นการสนับสนุนการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ในสหกรณ์ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการดำเนินงานสหกรณ์ เพื่อนำไปพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กรมฯ กำหนด พร้อมร่วมกันวางแผนการผลิตให้ได้มาตรฐานตามที่โครงการหลวงกำหนด พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการคิด การออกแบบ การผลิตการแปรรูปสินค้า และบรรจุภัณฑ์ของสหกรณ์  ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้โดดเด่นอย่างทันสมัย  

“กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้แนะนำส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการนำแนวการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาสหกรณ์อย่างยั่งยืน (บันได 7 ขั้น) มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนการยกระดับสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง มีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจ มีระบบการบริหารการจัดการที่ดี รวมถึงการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริการทางธุรกิจเป็นที่พึ่งของสมาชิกสหกรณ์ และยกระดับสหกรณ์ให้ดีขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว ​             

สำหรับสหกรณ์พัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงสบเมย จำกัด มีจุดสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของสหกรณ์ คือการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรสมาชิกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยพืชหลักที่เกษตรกรปลูกประกอบด้วย ข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง เสาวรส กาแฟใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ทำให้การดำรงชีวิตแบบอยู่ป่าไม้ได้อย่างสมดุล และนับเป็นพื้นที่ตัวอย่างของจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือสบเมยโมเดล “คนอยู่กับป่า” ได้เป็นอย่างดี

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated