มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้มาตรการตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สู่สังคมเป็นต้นแบบการใช้ชีวิต และทำกิจกรรมภายใต้สถานการณ์โควิดอย่างปลอดภัย โดยนิสิต อาจารย์ และบุคลากร จะมีส่วนร่วมนำองค์ความรู้ผลลัพธ์ จากผลิตภัณฑ์งานวิจัย การเรียนการสอน ถ่ายทอดแก่ประชาชน นอกจากนี้ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มูลนิธิฯ ให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าแปรรูป สินค้าอุโภคบริโภค ฯลฯ รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
สำหรับผลงานนวัตกรรม “เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด” มีจำนวน 34 ผลงาน หนึ่งในนั้น คือ ผลงาน ที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดการจัดการถิ่นอาศัย สัตว์ป่าขนาดใหญ่ ของพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งบนพื้นฐานทางวิชาการ รวมถึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น สร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำมาสู่การปรับทัศนคติของชุมชนต่อพื้นที่คุ้มครองให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น และสามารถลดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ แบบไม่ยั่งยืนของชุมชน อีกทั้งยังมีเป้าหมายที่จะสร้างการท่องเที่ยวทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่ต้องการเรียนรู้ระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์ป่า ให้เกิดจิตสำนึกในด้านการอนุรักษ์ นำมาซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคต
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
(ชมคลิปประกอบข่าวนี้ : การจัดการพื้นที่เขตกันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า EP.1 l ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ มก.)
ผศ.ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน และทีมนักวิจัยประกอบด้วย ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ผศ.ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารี และ ดร.สมหมาย อุดมวิทิต ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำการศึกษาวิจัย “โครงการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยทับเสลา–ห้วยระบำ” ซึ่งเป็นเขตกันชนที่สำคัญของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี มาตั้งแต่ ปี 2562 โดยทำการศึกษาพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่า ทางเลือกหนึ่งเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่มรดกโลก ที่จะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของการดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตกในการปกป้องสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่ รวมทั้งสร้างนวัตกรรมและแรงจูงใจในการดำรงชีวิตของชุมชนเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าหายาก ที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นความหวังเดียวในภูมิภาคนี้
ในกระบวนการศึกษาเพื่อออกแบบแนวทางการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วยการศึกษา 4 ส่วน ได้แก่ การจัดการถิ่นที่อยู่อาศัย การออกแบบและการพัฒนาพื้นที่ การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว และการพัฒนาและเตรียมความพร้อมชุมชน
ทั้งนี้ เพื่อให้แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสัตว์ป่ามีกรอบการพัฒนาบนพื้นฐานทางวิชาการ และบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และจากผลการศึกษา ได้นำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ของการพัฒนา คือ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสัตว์ป่าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยตามมาตรฐานสากลที่เป็นจุดหมายปลายทางหลักของประเทศ และ เป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์และการจัดการสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนของประเทศไทย
จากนั้น จึงกำหนดการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 พื้นที่การท่องเที่ยวชุมชนระบำรักษ์ขาแข้ง มีแนวคิดการพัฒนาเป็นพื้นที่นันทนาการโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้ผู้มาเยือนได้พักผ่อนหย่อนใจจากภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น โซนที่ 2 พื้นที่การพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเชิงนิเวศ และ โซนที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์และจัดการสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ศึกษาเรียนรู้การจัดการสัตว์ป่า
ผู้สนใจ “การพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวสัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วย ทับเสลา–ห้วยระบำ” เข้าชมได้ที่ โซนนวัตกรรม มก. ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 บริเวณด้านข้างอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.แสงสรรค์ ภูมิสถาน ภาควิชาอนุรักษวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 08 4936 6994
อนึ่ง ในงานแถลงข่าวเกษตรแฟร์ประจำปี 2565 “เกษตรก้าวไกล” ได้สอบถามเพิ่มเติมกับ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ประธานอนุกรรมการฝ่ายจัดแสดงผลงานนวัตกรรม ได้กล่าวว่า “ในเรื่องของการจัดพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวเขตห้ามล่าสัตว์ป่า “ห้วยทับเสลา – ห้วยระบำ” จ.อุทัยธานี จะเป็นพื้นที่แห่งแรกซึ่งอยากจะนำร่องนะครับ หลายคนอาจจะเคยดูภาพยนตร์สารคดีในแอฟริกา ซึ่งก็จะมีตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น ในเคนยา ไนจีเรีย ฯลฯ แต่ว่าในประเทศไทยหรือในทวีปเอเชียตัวอย่างแบบนี้ไม่มีเลยแล้วก็อาจจะได้ยินอยู่บ้างที่อินเดีย แต่ว่าในประเทศไทยเรายังไม่มี เพราะฉะนั้นอยากจะผลักดันให้เกิดพื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งแรกในเรื่องของท่องเที่ยวเชิงสัตว์ป่านะครับ”
(ชมคลิปเกษตรก้าวไกลLIVE–สัมภาษณ์ ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก เพิ่มเติมได้ตั้งแต่นาที 37.35 ซึ่งเป็นช่วงปิดท้ายของการถ่ายทอดสดในคลิปนี้ คลิก https://fb.watch/aH96rgx9Xf/)
(หมายเหตุ : เรียบเรียงข่าวจากต้นฉบับของ นางยุพดี คล้ายรัศมี / ประชาสัมพันธ์ มก. / 19 มกราคม 2565)