เรื่องโดย : จตุพล เกษตรก้าวไกล
“โครงการธ.ก.ส.เกษตรก้าวไกล” ได้รับข้อมูลจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จังหวัดราชบุรี บอกว่าที่หน้าสำนักงานจะมีเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ที่ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนนำพืชผักผลไม้มาขายอยู่ 2-3 คน หนึ่งในนั้นก็คือ “นายเสือ” หรือชื่อจริงนามสกุลจริง นายธนู นิติพันธ์ เราได้เดินทางไปพบเขาตรงวันศุกร์เดือนธันวาคมเดือนสุดท้ายที่จะย่างเข้าปีเสือ นายเสือ จะหอบหิ้วผักปลอดสารพิษ ทั้งมะเขือ คะน้า กวงตุ้ง แตงกวา ผักกาดขาว มาวางขายที่ตลาดหน้าธ.ก.ส.ราชบุรี ขายเพียงถุงละ 20 บาท มีลูกค้าประจำมารอซื้อหนาแน่น เพียงเที่ยงๆ ก็ขายหมดกลับบ้าน
บ่ายคล้อยในวันเดียวกันนั้นทีมงานเกษตรก้าวไกล ออกเดินทางไปเยี่ยมชมแปลงปลูกผักปลอดสารพิษที่ชื่อว่า “ไร่นายเสือ” ตั้งอยู่ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งใช้เนื้อที่เพียง 1 ไร่เศษ ปลูกผักปลอดสารพิษหลายชนิดและยังใช้พื้นที่บริเวณเดียวกันทำเป็นร้านอาหาร ขายสเต็กให้กับเพื่อนบ้านและนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน
วันที่เราไปเยือนนั้นเสียดายว่าร้านสเต๊กปิดตัวลง เพราะปัญหาโควิด แต่ก็ไม่นึกว่านายเสือและคุณพ่อของเขาจะทำสเต็กขึ้นมาพิเศษให้เราชิม ซึ่งไม่ได้บอกล่วงหน้าและไม่ได้ร้องขอ แต่ทำขึ้นมาด้วยใจ ซึ่งได้ชิมแล้วขอบอกว่ารสชาติเทียบเท่าร้านใหญ่ๆ ทราบว่าขายจานละ 80 บาทเท่านั้น
สเต๊กไร่นายเสือ
นายเสือ เล่าว่าผักของเราสดๆจากสวน วันที่เรานำไปขาย เราจะตื่นมาเก็บตอนเช้ามืด สายๆ ก็ถึงมือลูกค้า ผักของเราจะกรอบ อร่อย สด ใหม่เสมอ
“ช่วงนี้เราจะไปวางขายทุกวันศุกร์ที่หน้าธ.ก.ส.ราชบุรี เราจะเก็บผักตั้งแต่ตี 5 เมื่อก่อนเคยไปขายที่ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ แต่ช่วงโควิดตลาดปิดมาหลายเดือน นอกจากนี้เรายังมีร้านชำในหมู่บ้าน จำหน่ายผักใหม่สดทุกวันอีกด้วย”
เก็บผักไปขาย
นายเสือ พาเราเดินดูในแปลงปลูกผักหลากหลายชนิด แต่ปลูกเป็นแปลงขนาดเล็กๆ เว้นระยะห่างกัน โดยใช้หลักเขตกรรม สลับกันไปมา เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแมลงมารบกวนมากและอาจจะระบาดได้หากเป็นแปลงที่ปลูกติดกัน พืชผักที่ปลูก เช่น แตงกวา บวบ ฟักทอง คะน้า กวางตุ้ง โดยผักทุกชนิดจะปลูก 2-3 แปลง แต่จะปลูกเลื่อมเวลากัน เพื่อให้มีผักขายทุกสัปดาห์
“สำหรับการปลูกผัก เราปลูกแบบง่ายๆ ไม่ต้องยกร่อง การปลูกจะมี 2 แบบ คือเพาะเมล็ด และซื้อต้นกล้ามาปลูก เพาะเมล็ดเพียง 15 วัน นำไปลงแปลงอีก 15 วัน ก็จะนำไปขายได้ ส่วนการซื้อต้นกล้ามาปลูก เราซื้อมาต้นละ 1 บาท เช่นพริก เราไม่เสี่ยงเพาะกล้า เสียเวลา เราจะซื้อพันธุ์กล้ามาปลูกเลย หลักทั่วๆไป ผักที่เราเพาะต้นกล้าเองคือผักอายุสั้น” นายเสือ กล่าว
แปลงปลูกผักไร่นายเสือ
นายเสือ ได้สาธิตวิธีการปลูกผักแบบง่ายๆให้เราชม เพียงแค่ขุดเตรียมแปลง ใช้จอบขุดสัก 1 หน้าจอบ ตากแดดไว้หนึ่งวัน คลุกเคล้าปุ๋ยคอกไปเลย จากนั้นใช้คาดเกี่ยวหญ้าวัชพืชออก แล้วคลุมด้วยฟางข้าว เพื่อควบคุมความชื่น ระยะการปลูกห่างกัน 20 ซม. ใช้ไม้นำร่องหรือนิ้วของเราจิ้มก่อนจะวางกล้าผักลงไปเสมอกับคอดินเดิม ทุกใบจะอยู่บนฟาง ไม่แปะติด ก่อนจะนำผ้ามาคลุมไว้ 3 วัน เพื่อให้พืชตั้งตัว คลุมไว้เฉพาะกลางวัน กลางคืนเปิดให้พืชหายใจ อีก 15-20 วัน ก็เก็บขายได้
“ส่วนการป้องกันแมลงนั้น เราใช้หลักเขตกรรม คือปลูกสลับกันไปมา แต่ถ้ามีโรคระบาด เช่นแตงกวา จะมีโรคราน้ำค้าง เราจะใช้มือเด็ดทิ้ง เราปลูกไม่เยอะจึงจัดการได้ หลักทั่วไปเราต้องวางแผนการปลูกก่อน เพื่อป้องกันโรคและแมลง อย่าให้แปลงผักติดกัน ควรปลูกพืชแต่ละชนิดสลับกันไปมาหรือเรียกว่าหลักเขตกรรม” นายเสือกล่าว
ผักที่พร้อมจำหน่าย
ส่วนการตลาด นายเสือ ได้กล่าวขอบคุณธ.ก.ส.ราชบุรี ที่เปิดตลาดให้ขายทุกเช้าวันศุกร์ ถ้ามีงานอีเว้นก็ไปวางขายที่ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ ธ.ก.ส.จะส่งเสริมทั้งลูกค้าเงินฝากและลูกค้าเงินกู้ให้นำผลผลิตมาขาย และยังช่วยโปรโมทร้านและมีคูปองส่วนลดแจกให้ลูกค้าอีกด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่นายเสือได้ให้ข้อคิด ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าปลูกผักทำไมต้องใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส. เรื่องนี้นายเสือเล่าให้ฟังว่าเป็นที่ใช้บริการเป็นสินเชื่อฉุกเฉินโควิด รายละ 10,000 บาท ที่จำเป็นต้องใช้เพราะช่วงที่ผ่านมาคุณพ่อของตนเจ็บป่วย ซึ่งพอเกิดโควิดก็ยิ่งได้รับผลกระทบจากเดิมที่มีรายได้เสริมจากร้านขายสเต๊กแต่ก็ต้องปิดตัวลง และจากที่ได้ไปสมัครเข้าโครงการกับธ.ก.ส.สิ่งที่ได้มากกว่าเงินกู้ก็คือ เครือข่ายการตลาดผัก ที่ทำให้ได้รู้จักกับเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่ และผักของตนผ่านการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานของภาครัฐ ทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดเล็กๆจากธ.ก.ส.จึงทำให้ไปต่อได้
ใครต้องการที่จะอุดหนุนไร่นายเสือ ผักปลอดสารพิษ ทางเลือกใหม่ เพื่อสุขภาพของครอบครัว เจอนายเสือได้ทุกเช้าวันศุกร์ที่หน้าธ.ก.ส.ราชบุรี หรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมแบบเต็มๆได้จากคลิปนี้ https://youtu.be/92UYNsiaswU
ที่นั่งรับแขก…ร้านสเต๊กนายเสืออยู่ใต้ต้นจามจุรีร่มรื่นดีมากๆ