ฟาร์มดอนกระเบื้องที่บางปลาม้า เลี้ยงปลาแบบนักธุรกิจเกษตร เน้นเจ๋งด้วยคุณภาพผลผลิต
ฟาร์มดอนกระเบื้อง โดย ดร.ปลาดาว-ศิรีรัศมิ์ พรเลิศนภาดล ยึดหลักเลี้ยงปลาแบบนักธุรกิจ “เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้”

เรื่องโดย : ธนสิทธิ์ เกษตรก้าวไกล

“เรายึดหลักที่ว่า เกิดเป็นไก่ต้องชน เกิดเป็นคนต้องสู้ ด้วยพื้นฐานเดิมของครอบครัวเป็นเกษตรกร เลี้ยงปลากันมาแต่รุ่นพ่อแม่ และเมื่อเราได้เข้ามาสานต่อ สิ่งหนึ่งที่มุ่งเน้น คือ พัฒนาการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค ในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร หรือ food safety จนได้รับรองมาตรฐาน GAP จากกรมประมง เพราะโลกวิวัฒน์การไปไกลมาก วันนี้จะทานอาหาร จะบอกแค่อร่อยอย่างเดียวไม่ได้ ต้องปลอดภัยทางอาหารด้วย”

“หรือ ตอนไปเรียนปริญญาโท และปริญญาเอก ทุกคนถามว่า จะเรียนไปทำไมเยอะเยอะ อย่างไรก็ต้องกลับบ้านไปเลี้ยงปลาเหมือนเดิม เราก็บอกว่า จะกลับบ้านไปเลี้ยงปลาโดยที่ไม่มีความรู้หรือ เพราะการศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ เราเรียนแล้วนำกลับมาพัฒนาที่บ้านเรา”

ด้วยแนวคิดและมุมมองแบบคนรุ่นใหม่ของ ดร.ปลาดาว-ศิรีรัศมิ์ พรเลิศนภาดล และ อัครินทร์ รวีเลิศอธิโชติ ที่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาอาชีพ จากการเป็นเกษตรกรแบบเดิมที่เคยเป็นมากัน ก้าวมาสู่นักธุรกิจเกษตร ที่มีการมีการวางแผนธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และได้นำมาซึ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดกับฟาร์มดอนกระเบื้อง หมู่ 4 ตำบลวัดโบสถ์ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ที่วันนี้ คือ ฟาร์มเลี้ยงปลาคุณภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งการเลี้ยงในระบบ CARE Model และการเลี้ยงระบบ ปลาปี ด้วยพื้นที่การเลี้ยงกว่า 1,000 ไร่ ส่งผลผลิตทั้งปลาทับทิม ปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ดน้ำจืดหรือปลาเปคู ปลากระโห้ ป้อนตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เลี้ยงปลาทับทิม ระบบ CARE Model

CARE Model เป็นระบบที่พัฒนาโดย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อใช้ในการเพาะเลี้ยวปลาทับทิม และได้ดำเนินการส่งเสริมไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งฟาร์มดอนกระเบื้อง คือ หนึ่งในฟาร์มที่นำระบบ CARE Model ตั้งแต่การผลิตถึงการตลาดของซีพีเอฟ มาใช้จนประสบความสำเร็จ ตั้งแต่ปี 2563 บนพื้นที่ทั้งหมด 140 ไร่ รวม 30 บ่อ โดยใช้งบประมาณในการลงทุนรวม 64 ล้านบาท

“การเลี้ยงปลาทับทิมในระบบ CARE ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปลาทับทิมเจริญเติบโตได้ดี และสุขภาพดี มีอัตรารอดสูงถึง 90% และให้ผลผลิตแน่นอน และเพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงแบบเก่าที่ได้ผลผลิตต่อไร่จาก 1-2 ตันต่อไร่ เป็น 12-13 ตันต่อไร่ ยิ่งไปกว่านี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้านความปลอดภัย ไร้สารตกค้าง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ดร.ปลาดาว กล่าว

ทั้งนี้ ระบบ CARE Model ประกอบด้วย C-Consumer Need คือการผลิตที่ใส่ใจความต้องการของผู้บริโภค A- Achieve easily and consistently ระบบที่ง่ายต่อการเลี้ยง สามารถผลิตได้อย่างต่อเนื่อง R- Reliable System ผลผลิตมีคุณภาพ และแน่นอน และ E-Environmental Friendly ระบบการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ดร.ปลาดาว เน้นย้ำว่า ระบบ CARE Model เป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมการจัดการฟาร์ม และเทคโนโลยีทันสมัย มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ช่วยให้ผลผลิตคุณภาพดี รวมถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าที่ดี ได้คุณภาพ ไร้สารตกค้าง มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ทั้งหมด 

“วันนี้เราคือ ฟาร์ม CARE Model ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของเรา” ดร.ปลาดาว กล่าวย้ำ

ปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ดน้ำจืด ปลากระโห้ เลี้ยงระบบ ปลาปี

“ปลาปี เป็นชื่อระบบการเลี้ยงในกลุ่มปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ดน้ำจืดหรือปลาเปคู ปลากระโห้ เนื่องจากตองใช้เวลาในการเลี้ยงหลายปีกว่าจะได้ขนาดที่จับจำหน่ายได้ เราจึงใช้ชื่อว่า ปลาปี

โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากคุณพ่อ มองว่า ต้องการที่ลดการแข่งการขันกับเกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยง เช่นปลาดุก ซึ่งต้องประสบปัญหา ราคาและตลาดอยู่เนื่องๆ ดังนั้นคุณพ่อเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปแย่งตลาดกับเกษตรกร จึงหันมาเลี้ยง ปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ดน้ำจืดหรือปลาเปคู ปลากระโห้ เป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการขอเพียงใหได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ ตอนนี้มีบ่อเลี้ยงปลาปีรวมทั้งสิ้น 50 บ่อ”

“ปลาแต่ละชนิดจะมีตลาดเฉพาะกลุ่ม อย่างปลาเปคูหรือจาระเม็ดน้ำจืด ผู้บริโภคทางภาคเหนือและภาคกลางจะไม่ชอบ เพราะรสชาติไม่ถูกปาก แต่ทางภาคใต้ และกลุ่มอาหารฮาลาสจะให้ความนิยมชอบรับประทานกันมาก ส่วนปลากระโห้ จะจำหน่ายที่น้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัมขึ้นไป จะส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศอย่างเดียว”

สำหรับการเลี้ยงปลาในกลุ่มนี้ นายอัครินทร์ รวีเลิศอธิโชติ ได้กล่าวเสริมว่า สำหรับการเลี้ยงปลาปีใน 1 บ่อนั้นจะปล่อยปลาหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ปลาคัง ปลาบึก และปลาจาระเม็ด เลี้ยงรวมกัน โดยปริมาณการปล่อยปลาแต่ละชนิดชนิดนั้น จะเน้นการหมุนเวียนให้เหมาะสมสมดุล โดยคำนวณจากปริมาณปลาที่จับขึ้นจำหน่าย อย่างปีนี้ อาจจปล่อยปลาจาระเม็ดเยอะกว่า ปลาคัง และปลาบึก พอจับปลาในปีต่อไป ก็จะปล่อยปลาคังมากกว่า ปลาจาระเม็ด หรือปลาบึก เพื่อให้มีปลาแต่ละชนิดมีปริมาณที่ใกล้เคียงกัน แลไม่เกิดการแย่งอาหารกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างดี

“ในส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยง ถ้าเป็นช่วงลูกปลาที่ยังอนุบาล จะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่สั่งจากโรงงาน เพื่อให้ปลามีโครงสร้างดี แต่พอปลามีขนาดประมาณฝ่ามือ จะเปลี่ยนมาเป็นอาหารสดสดที่ประมูลมาจากโรงงาน เช่น ช่วงแรกจะให้ไส้กรอกและเศษอาหารก่อน จนกว่ามีน้ำหนักประมาณ 1กิโลกรัมขึ้น จึงจะจะให้ ไส้ไก่ และหัวไก่ เพิ่ม โดยในแต่ละบ่อนั้นจะมีการให้เฉลี่ยตามขนาดของปลา ซึ่งภาพรวมในแต่ละวันนั้น ต้องใช้ปริมาณไส้ไก่ที่เฉลี่ยที่ 7-8 ตัน เศษอาหารประมาณ 30 ตัน ไส้กรอกประมาณ 4-5 ตัน”

การจับเพื่อจำหน่าย นายอัครินทร์ บอกว่า จะเน้นให้ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการ เช่น ปลาจาระเม็ด นิยมที่ขนาดประมาณ 3 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วนปลาบึกขนาดประมาณ 10 กิโลกรัมขึ้น โดยในช่วงการจับจะใช้วิธีการลากอวน และคัดปลาที่ได้ขนาดส่งจำหน่าย ส่วนปลาที่มีขนาดเล็กไม่ได้ไซส์จะปล่อยลงเลี้ยงอีกประมาณ 1-2 เดือนก็สามารถจับจำหน่ายได้อีกครั้ง

มาถึงวันนี้ได้ เพราะมี ธ.ก.ส. เคียงข้าง

“การทำธุรกิจเลี้ยงปลา ทำไมถึงกล้างทุน อย่าง CARE Model เราใช้เงินลง ทุนไป 64 ล้านบาท ภายใต้การสนับสนุนของ ธ.ก.ส. เพราะเราหมั่นใจในเรื่องของตลาดรองรับ ว่าต่อไปผู้บริโภคต้องทานปลาทับทิมจากฟาร์ม CARE Model เท่านั้น ซึ่งเราก็มีการทำแผนธุรกิจ หรือ Business Plan ในการนำเสนอให้ทุกคนที่ร่วมลงทุนเห็นถึงอนาคตของการเลี้ยงในระบบนี้ และนำมาซึ่งการสนับสนุนอย่างเต็มที่ของ ธกส.

“ความเป็นไปได้ของธุรกิจ ความซื่อสัตย์ที่เรายึดหมั่น และมีการนำเสนอแผนธุรกิจที่ชัดเจน จึงทำให้ธกส.เข้ามาช่วยเต็มที่ สมกับที่เป็นธนาคารเพื่อเกษตรกร ซึ่งธ.ก.ส.นั้นมีนโยบายช่วยเกษตรกร มีหลายโปรแกรมหลายเมนูที่เราสามารถคุยกันได้เจรจากันได้ เพื่อให้มีทุนจาก ธ.ก.ส.มาดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย” ดร.ปลาดาวกล่าว

ผู้บริโภคต้องการปลาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP

“ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ต้องบอกว่า ได้รับผลกระทบพอสมควรในช่วงที่ตลาดต่าง ๆมีการปิดตัวลงเพื่อควบคุมโรค โดยจำนวนปลาที่จำหน่ายได้ลดลงไปเกือบครึ่ง สิ่งที่ทางฟาร์มได้ดำเนินการ คือ การรัดเข้มขัด ควบคุมในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตามหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลีคลายลง ทุกอย่างได้กลับมาเหมือนเดิม เนื่องจากปลาเป็นอาหารมีการทานกันทุกวัน และยิ่งที่วันนี้อย่างที่กล่าวแล้วว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยทางด้านอาหารเป็นสำคัญ ทำให้ปลาที่มาจากฟาร์มที่ได้รับมาตรฐาน GAP อย่างฟาร์มดอนกระเบื้อง ตั้งแต่ปลายปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน เราขายดีมาก”

ดังนั้นในวันนี้หลายคนได้รับผลกระทบ และต้องเริ่มต้นอาชีพใหม่ หากอยากเข้ามาสู่อาชีพการเลี้ยงปลาเพื่อสร้างรายได้ ดร.ปลาดาว ได้ให้ข้อแนะนำถึงเคล็ดลับที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จได้นั้น สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการตลาดที่ดีก่อน

“หมายถึงว่า เราผลิตปลาออกมา เราต้องรู้ว่า จะจำหน่ายให้ใคร ใครจะเป็นตัวแทนจำหน่าย เพราะถ้าเราผลิตสินค้าออกมาโดยที่ไม่มีตลาด เราต้องประสบปัญหาแน่นอน ดังนั้น หากมีการตลาดที่ดี มีแหล่งเงินทุนที่ดีแล้ว ต้องมาดูว่า ชัยภูมิที่ตั้งฟาร์ม ซึ่งต้องดูตั้งแต่ที่ตั้งฟาร์มเลย อย่างที่ฟาร์มดอนกระเบื้อง เน้นเลือกที่ดินที่เป็นที่นา เพราะจะไม่มีปัญหาในเรื่องของการต้องเสียงบประมาณเพื่อซ่อมคันดินรอบบ่อเลี้ยงปลาในแต่ละปี ด้วยที่นาส่วนมากจะมีความแข็ง และมีความเหนียวของเนื้อดิน ทำให้คันดินไม่ถูกกัดเซาะง่าย นอกจากนี้ต้องมีแหล่งน้ำที่ดี อย่างที่ฟาร์มโชคดีที่มีแหล่งน้ำจากคลองชลประทานทั้งด้านหน้า และด้านข้างฟาร์ม”

จากสถานที่ตั้งที่เหมาะสม ประเด็นต่อมาของข้อแนะนำ คือ เรื่องของพันธุ์ปลา ที่เจ้าของฟาร์มเน้นย้ำว่า ต้องมาจากแหล่งผลิตที่มีคุณภาพ มีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย มีเทคโนโลยีที่ดี  ฟาร์มดอนกระเบื้องจะมีลูกบ่อที่เป็นฟาร์มผู้ผลิตพันธุ์ปลาทั้ง ปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ดน้ำจืดหรือปลาเปคู ปลากระโห้ ที่มีคุณภาพมาก ๆ ลูกปลาที่ส่งมาจะเลี้ยงง่าย โตไว มีความแข็งแรงทนทาน ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยง ต้องมาจากโรงงานผลิตที่มีคุณภาพมาก ๆ และมีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และอาหารที่สั่งมาต้องนำมาผ่านการตรวจเช็คคุณภาพ เช่น โปรตีน ตรงตามที่แจ้งหรือไม่ เพราะถ้าพันธุ์ปลาดี อาหารดี การบริหารจัดการที่ดี ก็บอกได้เลยว่า ปลาก็เลี้ยงง่ายโตไว

“วันนี้ขอเป็นกำลังให้กับทุกคนที่กำลังเริ่มต้นกับอาชีพการเกษตร เน้นเลยว่า ขอให้ยึดความซื่อสัตย์ หมั่นฝึกฝนเรียนรู้ให้มาก เพราะเมื่อใดที่คุณเกิดการกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณจะเก่ง คุณจะมีความชำนาญ ในอาชีพที่ทำ และที่ห้ามขาดคือ การให้ความสำคัญกับ food safety เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งจะหนทางให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน” ดร.ปลาดาว กล่าวในที่สุด

(ชมคลิปประกอบข่าวนี้)

ฟาร์มดอนกระเบื้อง ยกระดับเลี้ยงปลาทับทิม ทุ่ม 64 ล้าน ได้ธ.ก.ส.-ซีพีเอฟหนุนสู่ตลาดโลก

เลี้ยงปลาบึก ปลาคัง จาระเม็ด กระโห้..เลี้ยงร่วมกันในบ่อดิน ฟาร์มดอนกระเบื้องเจ๋งจริงๆ

ปลากระโห้โจโจ้เลี้ยงได้ดีในบ่อดิน..ความภูมิใจของฟาร์มดอนกระเบื้องสุพรรณบุรี

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated