วาริชภูมิ สหกรณ์โคนมต้นแบบอาชีพพระราชทาน ผลิตน้ำนมโคคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่ลดลง
วาริชภูมิ สหกรณ์โคนมต้นแบบอาชีพพระราชทาน ผลิตน้ำนมโคคุณภาพ ด้วยต้นทุนที่ลดลง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานอาชีพการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโคนมอาชีพพระราชทาน ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่ 60 ขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ที่พัฒนาอาชีพโคนมให้มีความยั่งยืน

และเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่พสกนิกรทั่วประเทศมาโดยตลอดว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี นั้นทรงให้ความสนพระทัยในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่ราษฎร เห็นได้จากพระราชภารกิจที่ทรงปฏิบัติมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดโครงการอันเป็นประโยชน์ต่อราษฎรสาขาอาชีพต่างๆ มากมาย ซึ่งโครงการต่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นไปตามแนวพระราชดำริ และมีส่วนส่งเสริมต่อการพัฒนาประเทศโดยรวมให้มีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ในการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนมให้แก่เกษตรกร ทรงให้ความสนพระทัยและในหลายคราที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการความก้าวหน้าของสหกรณ์โคนมในพื้นที่ต่างๆ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมเป็นล้นพ้น

ดังเช่นเมื่อ พ.ศ. 2528 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานของสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์สกลนครทรงมีพระราชดำรัสให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับจังหวัดสกลนครส่งเสริมการเลี้ยงโคนมขึ้นในจังหวัดสกลนคร เป็น “กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ค้อเขียว” และพัฒนาเปลี่ยนเป็น “สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด” ในปัจจุบัน และมีการพัฒนาการผลิตและแปรรูปนมโคอย่างต่อเนื่อง จนมีผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์เป็นสินค้า OTOP เอกลักษณ์ของอำเภอวาริชภูมิในปัจจุบัน

นายดุสิต ทองทา สหกรณ์จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนครมีภาระกิจในการสนองงานในสมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ด้านโคนม คือ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด และ สหกรณ์โคนมภูพาน จำกัด ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกพืชทั่วไปมีอาชีพเสริมด้วยการเลี้ยงโคนม เพื่อผลิตน้ำนมส่งไปยังโรงงานแปรรูปเป็นนมโรงเรียน หรือ เป็นนม UHT

“สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนครมีโครงการส่งเสริมสมาชิกสหกรณ์ให้ผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพได้มาตราฐานฟาร์ม มีการบริหารจัดการการแปรรูปให้มีคุณภาพในการผลิตน้ำนมที่ดี สามารถส่งตลาดต่างๆ ได้  โดยหนึ่งในตลาดหลักที่สำคัญ คือ นมพาสเจอร์ไรส์ซึ่งส่งในโครงการของนมโรงเรียน” นายดุสิต ทองทา  กล่าว

สหกรณ์จังหวัดสกลนครเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า การเลี้ยงโคเพื่อผลิตน้ำนมปัจจุบันหลายครัวเรือนทำเป็นอาชีพหลัก เพราะมีรายได้ทุกวัน โดยสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 300 คน เลี้ยงโคนมประมาณ 120 ราย มีโคนมรวมประมาณ 1,000 ตัว และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้พระราชทานคำแนะนำและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ แก่สหกรณ์โคนมมาโดยตลอด และเมื่อเกษตรกรให้ความสนใจมายึดอาชีพการเลี้ยงโคนมมากขึ้น สิ่งที่จะขาดแคลน คือ อาหารสัตว์ พระองค์ทรงรับสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปช่วยเหลือโดยการประสานงานกับกรมปศุสัตว์เพื่อเพิ่มพื้นที่แปลงหญ้าให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 

 นายกิตติ แพงศรี  เกษตรกรปราดเปรื่อง ต. ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ สมาชิกสหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จำกัด กล่าวว่า ในปี 2553 กรมปศุสัตว์ได้นำพันธุ์หญ้าเนเปียปากช่อง 1 มาให้ปลูก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหยาบที่มีคุณภาพเพื่อเลี้ยงโคนม โดยแปลงปลูกหญ้าเนเปียจะนำมูลโคมาใส่เพื่อบำรุงการเจริญเติบโต เมื่อตัดหญ้ามาผสิตอาหารหยาบให้โคจึงไม่มีสารเคมีปนเปื้อน เมื่อวัวกินเข้าไปก็ไม่อันตรายและผลิตน้ำนมออกมาอย่างมีคุณภาพไม่มีการเจือปนของสารเคมี

“ปัจจบันมีโคนม 9 ตัว โคสาวท้อง 1 ตัว โครุ่น 1 ตัว โคเล็กอีก 2 ตัว ทุกตัวได้กินอาหารหยาบหมด ซึ่งการพัฒนาอาหารหยาบเพื่อเพิ่มผลผลิตนั้น ทำให้โคนนมให้ผลผลิตน้ำนมที่สูง และมีคุณภาพ โดยได้รับการแนะนำจากทางกรมปศุสัตว์ โดยศูนย์วิจัยพัฒนาอาหารสัตว์ ว่าอาหารหยาบนั้นจะดีกับโคนม ทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วนวัวของผมทุกวันนี้ให้น้ำนมเฉลี่ย 25 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน คุณภาพน้ำนมอยู่ในระดับพรีเมี่ยมของสหกรณ์”

นายกิตติ บอกเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับแนวทางการเลี้ยงของโคนมของผม คือ การบริหารจัดการโค โดยจะเน้นโคที่ให้ผลผลิตมากกว่าฝูงโคทดแทน  คือ การเลี้ยงโคนมมันจะมีฝูงโคที่ให้ผลผลิตกับฝูงโคทดแทน เราจะปรับการเลี้ยงให้เหมาะสมกับแรงงานที่เรามีในครอบครัวของตัวเอง ใช้วิธีที่จะทำให้แม่โคเป็นสัดในระยะไล่เลี่ยกัน คือ ผสมให้ไล่เลี่ยกัน เมื่อตั้งท้องพร้อมกัน โคก็จะออกลูกระยะเดียวกัน ทำให้เราได้มีเวลาพักผ่อน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ประมาณ 2- 3 เดือน ในช่วงที่หยุดรีดนม ก็จะได้มีเวลาทำกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงในฟาร์มด้วย เพราะฟาร์มผม ทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม การทำอาชีพเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพที่เสี่ยงไม่มั่นคง คือ เมื่อเราพักหยุดการรีดนมโคไม่ได้มีรายได้ส่วนนี้ แต่เราก็มีรายได้ส่วนอื่นขึ้นมาเสริมคือให้มันมีความมั่นคงเราสามารถอยู่ในอาชีพนี้ได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาว่าต้องได้รายได้มาจากการเลี้ยงโคนมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  

พร้มกันนี้ ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ ทางด้านการเกษตร ไร่นาสวนผสมแบบพึ่งพาตนเอง ด้วยการน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ ปลูกข้าวกินเอง ปลูกทุกอย่างที่เรากินได้ เช่น หอม บวบ กล้วย ฝรั่ง พริก มีมะเขือ มะพร้าว ลำไย มะขาม เป็นต้น ด้านประมงเลี้ยงปลานิลและปลาธรรมชาติของพื้นบ้าน และกิจกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 นับเป็นความภาคภูมิใจและมีความตื้นตันใจอย่างมาก ผมได้พัฒนาและแก้ปัญหาในการเลี้ยงโคนมมาอย่างต่อเนื่อง จนได้เป็นฟาร์มต้นแบบ

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated