สศท.12 เชิญชิม “ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี” ปลา GI เนื้อนุ่ม
สศท.12 เชิญชิม “ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี” ปลา GI เนื้อนุ่ม แน่น และรสชาติหวานอร่อย

นายนพดล ศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุทัยธานีมาอย่างยาวนาน ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อปี 2555 ด้วยเอกลักษณ์ของเนื้อปลาที่นุ่ม แน่น และรสชาติหวานอร่อย นิยมนำไปทำเป็นเมนูรับประทานกันในงานเลี้ยงโต๊ะจีน และร้านอาหารในจังหวัด ประกอบกับการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจและนำรายได้มาสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดปีละ 10 ล้านบาท

ปัจจุบันจังหวัดอุทัยธานี (ข้อมูลจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอุทัยธานี ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2564) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี (GI) จำนวน 148 ราย โดยเกษตรกรจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม จากการทำเกษตรกรรมและประมงเป็นหลักเกษตรกรเลี้ยงประมาณ 1 – 2 กระชัง/ครัวเรือน พื้นที่กระชังรวม 4.11 ไร่ หรือ 1,644.44 ตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสะแกกรัง ตำบลอุทัยใหม่ ตำบลน้ำซึม และตำบลท่าซุง ของอำเภอเมือง ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศท.12 เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี ที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 42,944 บาท/กระชัง/รุ่น (กระชังขนาดประมาณ 5 x 5 x 2.5  เมตร) โดย 1 กระชัง สามารถเลี้ยงได้ประมาณ 800 – 1,000 ตัว ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 18 – 22 เดือน/รุ่น เกษตรกรจะวางแผนเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน เพื่อให้ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนตุลาคม – เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลประเพณีตักบาตรเทโว ตรุษจีน ปีใหม่ และสงกรานต์ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 600 – 800 กิโลกรัม/กระชัง/รุ่น (ขนาด 700-1,200 กรัม/ตัว) เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 48,000 – 64,000 บาท/กระชัง/รุ่น คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 5,056 – 21,056 บาท/กระชัง/รุ่น ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 80 – 85 บาท/กิโลกรัม ทั้งนี้ ผลผลิตจะทยอยออกสู่ตลาดเนื่องจากการเจริญเติบโตของปลาไม่เท่ากันจึงต้องมีการคัดขนาดในแต่ละรอบเพื่อนำไปจำหน่าย

ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่เกษตรกรจะจำหน่ายภายในจังหวัดเป็นหลัก โดยผลผลิตร้อยละ 94 จำหน่ายให้กับพ่อค้าในพื้นที่ ซึ่งมารับซื้อถึงกระชังเลี้ยงปลาเพื่อส่งต่อไปยังร้านอาหาร โต๊ะจีนในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ส่วนผลผลิต ที่เหลืออีกร้อยละ 6 เกษตรกรนำไปจำหน่ายด้วยตนเองที่ตลาดสด และบางส่วนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำพริก แหนม ปลาร้าด่วน โดยจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook ของเกษตรกรเอง และจัดส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ไทย และKerry Express ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด มีนโยบายสนับสนุนด้านการแปรรูปด้านการตลาด ตลอดจนมาตรฐานของสินค้าเพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภครวมถึงเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรขายผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น

ผู้อำนวยการ สศท.12 กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรที่เลี้ยงปลาแรด GI จะประสบปัญหาผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาวะภัยแล้งตั้งแต่กลางปี 2563 มาจนถึงช่วงกลางปี 2564 และปัญหาน้ำท่วมช่วงเดือนกันยายน 2564 ส่งผลให้ปลาแรดบางส่วนที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโตตาย ซึ่งหากสถานการณ์น้ำเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าผลผลิตรุ่นต่อไปจะเพิ่มมากขึ้น สำหรับแนวทางการพัฒนาเพื่อยกระดับปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี จะเน้นด้านการผลิตและการตลาด มีการจัดการข้อมูลผู้ผลิต ปริมาณการผลิต และคู่ค้า เพื่อเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและตลาด รวมถึงการวางแผนการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการสินค้าได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยแนวทางการพัฒนาปลาแรด GI สามารถนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพปลาแรด GI ให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่จังหวัดอุทัยธานีได้ในระยะยาว จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจมาเที่ยวชมและชิมเมนูปลาแรดที่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อสร้างรายได้และสนับสนุนให้เกษตรกรมีกำลังใจในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพต่อไป หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.12 นครสวรรค์ โทร 0 5680 3525  หรืออีเมล zone12@oae.go.th

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated