อธิการบดี มก. เปิดงานเกษตรแฟร์ 2565 “เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด” ย้ำเดินหน้าสร้างความกินดี อยู่ดี ร่วมกัน ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มก. กับไม้กระบองที่ใช้ฟาดเจ้าโควิดเพื่อเปิดงานเกษตรแฟร์ 2565

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 28 มกราคม 2565 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 “เกษตรวิถีใหม่หลัง มหันตภัยโควิด” ภายใต้มาตรการเข้มข้นตามแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโควิด-19  โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานเกษตรแฟร์ คณะผู้บริหาร แขกเชิญ และนิสิต ร่วมในพิธี

พิธีเปิดจัดขึ้นอย่างมีสีสัน ให้แนวคิดเรื่องของการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์โควิด โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มก. ได้นำไม้กระบอง ที่ชื่อ “C.Wachrinrat-Kasetsart” ฟาดเจ้าโควิดล้มคว่ำ สื่อให้เห็นว่าได้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ทำลายตัวเชื้อไวรัสให้หมดสิ้นไป หลังจากตัวเชื้อไวรัสถูกทำลายแล้วก็ถูกแทนที่โดยข้อความ งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 “เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด” และตามด้วยการร้องและรำอย่างชาวนนทรี จากนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมดนตรีสากลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยูแบนด์ หลังจากนั้นประธานเปิดงานได้พาคณะที่มาร่วมงานขึ้นรถชมงานตามโซนต่างๆ

การจัดงานเกษตรแฟร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับงานวันคล้ายวันสถาปนา มก. 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ในอดีตการจัดงานแสดงเทคโลยีทางการเกษตร เริ่มจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2491 จากนั้นจึงมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่แก่ประชาชน และขยายความร่วมมือการจัดงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่มาของการจัดงานเกษตรแห่งชาติ

สำหรับการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม เปิดการเรียนรู้ให้กับนิสิต บุคลากร และอาจารย์ โดยใช้งานเกษตรแฟร์ เป็นห้องปฏิบัติการภาคสนามเพื่อถ่ายทอดความรู้ทุกมิติจากห้องเรียน ช่วยเหลือสังคมประชาชน อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไปสู่ชุมชน และสังคม สร้างความสุขให้กับครอบครัว ขณะเดียวกันก็คาดหวังงานเกษตรแฟร์จะเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตประจำวันในวิถีใหม่ ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตเดินหน้า ทั้งการงานอาชีพ การเรียน การทำกิจกรรมและบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคม ภายใต้สถานการณ์โควิดอย่างปลอดภัย โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร ของการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ให้ทุกฝ่ายเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด  

กิจกรรมประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมของ มก. การประกวดพืช ผลไม้ การประกวดปลากัด การประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องแกงอาหารไทยพร้อมปรุง ประเภทแกง การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TGDA Awards 2022 กลุ่มร้านค้านิสิต การแสดงศิลปและวัฒนธรรม ดนตรี นาฎศิลป์ และกลุ่มร้านค้าตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกร ตลาดน้ำนนทรี สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดจากผู้ประกอบการ โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง BCG แก่ผู้ประกอบการและประชาชน ภายในงานเกษตรแฟร์ โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้โครงการ อว. BCG Market @Kaset Fair ซึ่งจะมีผู้ประกอบการภายใต้หน่วยงานต่าง ๆ ของ กระทรวง อว.เข้าร่วมประมาณ 100 ราย นอกจากนี้ยังเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์Kasefair.kyu.ac.tk ให้ทุกท่านสามารถเข้าชมงานเกษตรแฟร์เสมือนจริงและเลือกสินค้าได้ตลอดงานและหลังจากการจัดงาน

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากภารกิจการดูแลด้านสุขภาพความปลอดภัยของนิสิตบุคลากร สู่ การพัฒนาภารกิจมหาวิทยาลัย ด้านการสอนทั้ง online offline และ hybrid การดูแลทุนการศึกษา การลดหย่อนและบรรเทาความเดือดร้อนของนิสิต การวิจัยที่ต่อเนื่อง งานบริการวิชาการ อาทิ  มหาวิทยาลัยสู่ตำบาล U2T ตลอดจน โครงการพัฒนาวิชาการ การบ่มเพาะธุรกิจ start up, spin off ที่มีอย่างไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งการช่วยประชาชนในภาวะวิกฤตทั้ง ชุดอุปกรณ์ เบื้องต้นช่วยเหลือผู้ติดโดวิด-19 การเป็นโรงพยาบาลสนาม community isolation และเป็นศูนย์วัคซีน ทั้งบางเขน กำแพงแสน สกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินต่อไป หลังจากที่เผชิญปัญหามา 2 ปีเต็มคือความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งใจจะพัฒนาทั้งความรู้ นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดงานเกษตรแฟร์ ในยุค new normal ในระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้นิสิตได้ฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียน ซึ่งปีนี้ มีนิสิตรวมกลุ่มกันขอพื้นที่มากกว่า 150 กลุ่ม รวมเป็นจำนวนนิสิต เกี่ยวข้องมากกว่า 500 คน และมีร้านค้าในระดับสโมสร ชมรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะมีนิสิตเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก และ มีจิตอาสา ในการดำเนินการทำระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ การจัดประกวดแข่งขันทั้งพืชสัตว์ สิ่งแวดล้อม และ นวัตกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็น การฝึกนิสิต ให้ทำงานเป็นทีม เป็นผู้ประกอบการ เป็นจิตอาสา ตลอดจนความอดทนในการทำงานจริง จากเช้าจรดเย็น 9 วัน เหนื่อยจริง ขาดทุนจริง และกำไรจริง นิสิตจะได้เข้าใจในการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนวัตกรรมมากมายที่พร้อมใช้งานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มีการเสวนาวิชาการออนไลน์ ในระดับชาติและนานาชาติ เกษตรกร และ ผู้ประกอบการ มากกว่า 1,200 กลุ่ม

จากรายงานการสรุปการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2563 โดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าการจัดงานเกษตรแฟร์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม กว่า 4,800 ล้านบาท เกิดความรู้ และ นวัตกรรม ชื่อเสียงต่อความน่าเชื่อถือ และตราสินค้าของผู้ประกอบการ มากมาย มีผู้เข้ามาในงานเกษตรแฟร์ ในปี 2563 ถึง 750,000 คน ใน 9 วัน สร้างความโดดเด่นให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นภาคภาคภูมิใจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ช่วยประเทศชาติ ช่วยสังคม

ปีนี้ทางกระทรวง อว. และ สวทช. ยังได้ร่วมจัดแสดงสินค้าและให้ความรู้เกี่ยวกับ BCG โดยนำสินค้า จากโครงการ U2T จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาแสดง มากกว่า 100 ร้าน นอกจากนี้ นอกจากมาตรการเคร่งครัดทางสาธารณสุข ต่างๆ แล้ว มก. ยังได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน นำ เนื้อหมู วัว ไข่ไก่ ราคาถูก และเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยประชาชน และยังเปิดฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยทั่วไป ในระหว่าง 28-30 ม.ค. นี้ ในงานเกษตรแฟร์ อีกด้วย เพื่อช่วยประเทศ และเป็นการช่วยประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น

“เราต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่ภายหลังโควิด และ อยู่อย่างปลอดภัยโดยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และยั่งยืนเพื่อให้สังคม และประเทศ มีความเจริญก้าวหน้า และแข่งขันได้กับนานาอารยประเทศ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวย้ำในที่สุด

(เรียบเรียงจากข่าวต้นฉบับ โดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 28 มกราคม 2565)

(ภาพโดยน้าตู่” และประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้)

ชมคลิป/ เกษตรก้าวไกล LIVE in KU kaset fair 65-เกษตรแฟร์ 65 เปิดงานแล้ว โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้ไม้กระบองที่ชื่อ “C.Wachrinrat-Kasetsart” ฟาดเจ้าโควิดล้มคว่ำ เป็นสัญลักษณ์ว่า หลังจากตัวเชื้อไวรัสถูกทำลายแล้ว เราก็จะได้ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่

https://fb.watch/aQrbvfdiNS/

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated