เรื่อง/ภาพ : เกษตรก้าวไกลไปด้วยกัน
“วันนี้(9มกราคม2565)เราได้มีโอกาสมาอีกจุดหนึ่งของอำเภอบางสะพานนะครับ แต่ที่น่าสนใจมากๆก็คือตรงนี้ถ้าเรามองก็คือเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กสำหรับพัฒนาชุมชนในพื้นที่เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคอยู่ในพื้นที่เขต 1,000, 2,000, 3,000 ไร่ก็แล้วแต่ มันเป็นฝายทดน้ำมีหน้าที่ยกระดับน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรนะครับ จะมีระบบการจัดการน้ำอาจจะเป็นคลองส่งน้ำท่อส่งน้ำ เราเรียกว่าฝายยายฉิมก็สร้างเมื่อปี 2560 นะครับ และเมื่อปี 2560 เกิดอุทกภัยบางสะพาน ฝายนี้กำลังก่อสร้าง ผลจากกระแสน้ำที่มาอย่างรุนแรงของคลองบางสะพานทำให้ฝายนี้ได้รับผลกระทบก็พังไป ทางกรมชลประทานก็ไม่ทอดทิ้งนะครับ เพราะเรากำลังสร้างอยู่เกือบเปิดใช้งานได้แล้ว แต่พี่น้องยังใช้ไม่ได้แน่ถ้าเราไม่มาซ่อมให้สมบูรณ์ วันนี้ทางผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 14 (นายพิมล สกุลดิษฎี) ก็ได้มีการก่อสร้างพร้อมทีมงานแล้วเสร็จสวยงามก็อยากให้ทางพี่น้องสื่อมวลชนได้มาเยี่ยมชม แล้วก็ทางท่านผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำพี่เล็ก(นายกฤษดา หมวดน้อย ปราชญ์ชาวบ้าน) ก็อยู่ในพื้นที่แล้วก็เราก็ต้องทำเรื่องของการมีส่วนร่วมภาคประชาชนการจัดสรรปันน้ำให้เป็นธรรมครับ ผมก็เน้นนโยบายของกรมชลประทานที่เราสร้างเสร็จเราก็จะส่งมอบให้กับท้องถิ่น แต่เราต้องดูก่อนนะครับว่าโครงการนั้นอยู่ในขอบเขตของงานพระราชดำริ งานความมั่นคง หรืออุทกภัยอุทกภัยหรือเปล่านะครับ ก็เดี๋ยวจะให้ฟังขั้นตอนการก่อสร้างปัญหาอุปสรรคจากผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 14 เชิญครับ”
นั่นคือเสียงของ นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้อธิบายจุดเริ่มต้นของฝายทดน้ำบ้านเกาะยายฉิม ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ซึ่งลักษณะของโครงการ ขั้นตอนและปัญหาอุสรรคการก่อสร้าง จะมีรายละเอียดอยู่ในคลิปที่เกษตรก้าวไกลได้LIVEสด (คลิกชมได้ที่ https://fb.watch/b4eGTFShmO/) และในตอนท้ายของคลิปรองอธิบดีกรมชลประทานได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการสร้างฝายทดน้ำของชุมชนต่างๆ ว่าถ้าชุมชนต้องการสร้างจะสามารถเข้าถึงกรมชลประทานได้อย่างไร ขอให้ผู้สนใจคลิกชมตามลิงก์ที่ให้ไว้ก็จะได้ความชัดเจน
ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2
พร้อมกันนี้ “เกษตรก้าวไกล” ยังได้นำภาพหนังสือตอบกลับการก่อสร้างโครงการฝายทดน้ำบ้านเกาะยายฉิมและภาพข้อมูลรายละเอียดโครงการมาให้ดูด้วย เพื่อจะได้เป็นแนวทางให้กับพี่น้องเกษตรกรในชุมชนอื่นๆ ที่ต้องการได้แหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะอีกไม่นานหลังจากนี้หน้าแล้งก็จะมาเยือนอีกแล้ว
เรื่องราวของฝายทดน้ำเกาะยายฉิมนับว่าเป็นอีกกรณีที่น่าศึกษา เราต้องติดตามกันว่าตัวแทนในชุมชนจะบริหารจัดการใช้น้ำกันอย่างไร จึงจะทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชน “แหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อพัฒนาชุมชน” (ตามที่รองอธิบดีกล่าว) กับอีกกรณีหนึ่งคือ ฝายทดน้ำตั้งอยู่ในทำเลที่มีภูมิประเทศสวยงามจะสามารถสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้หรือไม่ หรือแหล่งน้ำก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในด้านใดได้บ้าง…?