ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสนอทางออกปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกรด้วยธนาคารต้นไม้..
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด เสนอทางออกปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกรด้วยธนาคารต้นไม้..

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 มีการจัดเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ ณ ห้องประชุมลาเวนเดอร์ 2 โรงแรม ทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมี สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวรายงานตอนหนึ่งว่า จากอดีตถึงปัจจุบันเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนา มีบทบาทสำคัญในการผลิตอาหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคชนบท ที่สร้างรายได้ให้ประเทศจากการส่งออกข้าวและพืชเศรษฐกิจอีกหลายชนิด แต่กลับกลายเป็นอาชีพที่ถูกบีบคั้นจากปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในหลายด้าน เช่น ราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุน หรือปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทุกปี ดังคำพูดของเกษตรกรที่ว่า ‘ของทุกอย่างที่ซื้อเขาแพงหมด แต่ของเราขายได้ในราคาถูก’ รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งศักยภาพในการปรับตัวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น พฤติกรรมทางการเงินที่เชื่อมโยงกับวงจรหนี้ รายได้ไม่ครอบคลุมรายจ่าย แนวคิด และวิธีการออมเงินไม่สามารถปลดล็อกหรือมีอิสระทางการเงินได้ 

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ได้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำของระบบเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือนเกษตรกร โดยพบว่า ในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74 โดยปี 2564 มีหนี้ประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน และปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 150,636 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งทั้งวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตหนี้สินนี้เองส่งผลกระทบให้ปัญหาการสูญเสียที่ดินทํากินของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเกษตรกรจํานวนมากนําที่ดินเป็นหลักประกันเงินกู้ในรูปแบบการจํานองและขายฝาก เมื่อเจอปัญหาวิกฤตด้านรายได้ ไม่สามารถชําระหนี้ได้ตามกําหนดเวลา เกษตรกรจะมีปัญหาการถูกฟ้องร้อง จนจบลงด้วยการถูกบังคับคดี ขายทอดตลาด และสูญเสียที่ดินในที่สุด

แก้หนี้พูดง่าย ทำยาก นโยบายรัฐไม่เอื้อเกษตรกรรายย่อย

ขณะที่ นายศรีสะเกษ สมาน รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวเปิดเวทีเสวนาและแสดงปาฐกถา หัวข้อ ‘ยุทธศาสตร์และแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรในภาวะวิกฤต’ ตอนหนึ่งว่า หนี้ต่อให้ปรับโครงสร้างอย่างไรก็ยังเป็นหนี้ ซึ่งทางออกที่จะไม่เป็นหนี้นั้น เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะนโยบายไม่ตอบโจทย์กับเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มเดิม ๆ คนรุ่นเก่า โดยเฉพาะในระยะหลัง ๆ มีเรื่อง Smart Farmer ทั้งหลายเข้ามา คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดใหม่ มีความเป็นปัจเจกสูง กลุ่มทุน หน่วยงานต่าง ๆ ก็พากันเข้าไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ ตรงนี้เองกลับยิ่งทำให้เกษตรกรกลุ่มเดิมถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 

นโยบายที่บ้านเรามีไม่ได้มุ่งเข้าไปช่วยเกษตรรายย่อย เพราะบ้านเราไม่ได้ยอมรับไม่ยอมสถาปนาว่าประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรายย่อย ทำให้เกษตรกรรายย่อยเป็นคนด้อยโอกาสชั้นล่างสุดที่รอรถโดยสารแบบลุ้น ๆ ว่าจะมาหรือไม่มา เปรียบเหมือนกับ ปลูกมะเขือออกมาก็ต้องลุ้น ไม่รู้ว่าจะขายได้หรือไม่”

รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวต่อว่า เกษตรกรถูกบังคับให้เป็นถึง 3 อย่างคือเป็น นักเกษตรกร, นักอุตสาหกรรม และนักการตลาดที่ดี ดูดีดูหรูหรา แต่ความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เกษตรกรอยู่ไปวัน ๆ ซ้ายก็หนี้ ขวาก็หนี้ ไม่มีทางออก ขณะเดียวกัน บ้านเราก็ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องการรวมกลุ่มเลย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางออกร่วมกัน 

เกษตรกรไทยร้อยละ 90 เป็นหนี้

จากนั้นมีการเสวนา ในหัวข้อ ‘ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน’ โดยมีวิทยากรและผู้สนใจมาร่วมเสวนาอย่างคึกคัก

ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงงานวิจัยสู่การออกแบบนโยบายแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 90 มีหนี้สิน และพบว่าเกษตรกรมีหนี้หลายก้อน มาจากหลายแหล่ง แต่แหล่งใหญ่สุดคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะเดียวกันยังพบอีกว่า เกษตรกรร้อยละ 92.2 เคยเข้าร่วมโครงการพักหนี้ แต่ผลคือทําให้เป็นหนี้และมีหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น 

“วงจรหนี้ของเกษตรกรมาจากการขาดสภาพคล่อง ทุนต่ำ ทำเกษตรไม่ได้ดี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ติดกับดักนโยบายแก้หนี้ ที่เน้นช่วยระยะสั้น เช่น การพักหนี้ มากกว่าการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่สถาบันการเงินก็เน้นการปล่อยสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เงินมาใช้หนี้ก้อนเดิม สร้างวัฒนธรรมหมุนหนี้ แทนที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องปลดล็อกวัฒนธรรมการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน เปลี่ยน KPI เรื่องปริมาณสินเชื่อ เป็นคุณภาพสินเชื่อแทน 

ส่วนนโยบายภาครัฐจากเดิมที่เน้นการพักชำระหนี้ ต้องเปลี่ยนเป็นปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม เหมาะสม และจูงใจลูกหนี้ รวมทั้งจะต้องมีหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้พลังมหาศาลในการทำความเข้าใจลูกหนี้ ดังนั้นประเด็นคือธนาคารของรัฐจะเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่” ดร.โสมรัศมิ์ กล่าว 

ด้าน คุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงบทเรียนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีหนี้เกษตรกรว่า หากมีการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด ผลกระทบต่อเกษตรกรลูกหนี้คือ ต้องถูกบังคับให้ต้องขายที่ดินในราคาถูกกว่าท้องตลาด นำไปสู่การสูญเสียที่ดินภาคการเกษตรให้แก่นายทุนและบรรษัทต่างชาติ

“แนวทางปฏิบัติของเกษตรกรลูกหนี้เมื่อถูกบังคับคดี คือ อาจใช้วิธีเข้าร่วมประมูลที่ดินของตัวเอง แต่กรณีนี้ก็มีจุดอ่อนตรงที่เจ้าหนี้จะสามารถเข้าร่วมการเสนอราคาและปั่นราคาให้สูงเกินกว่าความเป็นจริง หรือกรณีขอให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าซื้อหนี้ แนวทางนี้แม้มีจุดแข็งตรงที่ ศาลรับฟัง สามารถตีความเข้าสู่การให้ลูกหนี้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ แต่ก็มีจุดอ่อนคือ กระบวนการพิจารณาของกองทุนต้องใช้เวลา และปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อหนี้เกษตรกรได้ทั้งหมด” เพ็ญนภา กล่าว

ขณะที่ นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรเผชิญปัญหามาก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ทั้งปัญหาในเรื่องภัยพิบัติ ปัญหาเรื่องโครงสร้างราคา ต้นทุนการผลิต ฯ โดยปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส. มีลูกค้าซึ่งเป็นเกษตรกร 4.83 ล้านครัวเรือน หากคิดเฉลี่ยครัวเรือนละ 3 คน จะมีลูกค้าที่เป็นเกษตรกรประมาณ 15 ล้านคน

นายพงษ์พันธ์ กล่าวถึงการจัดการหนี้เกษตรกรในภาวะโควิด-19 ต่อว่า ได้มีมาตรการช่วยเหลือในรูปแบบการส่งผ่านเงินเยียวยา  การพักชำระหนี้ และมาตรการฟื้นฟูอื่น ๆ อีกด้วย

“ในปี 2565 นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่าจะเป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้รับลูกและมีการแก้ปัญหาหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ธ.ก.ส.เราไม่ใช่แค่มีหน้าที่แค่อำนวยสินเชื่อ แต่เราได้เข้าไปพัฒนา ส่งเสริม ให้การช่วยเหลือเกษตรกร และในปีนี้ทาง ธ.ก.ส. ตั้งเป้าว่าจะออกไปเยี่ยมลูกค้าให้ครบถ้วน ไปดูว่าใครควรให้ยาแบบไหน ปรับโครงสร้างหนี้ ลดดอกเบี้ยอย่างไร รวมถึงสร้างมาตรการจูงใจ เช่น โครงการชำระดีมีคืน คืนดอกเบี้ยลูกค้าที่ไม่ใช่ NPL ร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง, ลูกค้า NPL คืนดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 50 เป็นต้น ฉะนั้นการบังคับคดีชำระหนี้ของ ธ.ก.ส. จึงมีน้อยมาก” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าว

นอกจากนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ ได้กล่าวว่า นโยบายและทางออกการแก้หนี้เกษตรกรที่ยั่งยืน ได้นำเสนอทางออกที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีของธนาคารต้นไม้ ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ดำเนินรายการโดย คุณณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าว ช่อง 8

(รายละเอียดการเสวนาชมเต็มๆได้จากคลิป เกษตรก้าวไกลLIVE – ปลดล็อกวิกฤตหนี้เกษตรกร ข้อเสนอเชิงนโยบายและทางออกที่ยั่งยืน” https://fb.watch/bkAk7Zqh_V/ โดยในเรื่องหมอหนี้ประจำหมู่บ้าน และธนาคารต้นไม้จะอยู่ช่วงท้ายๆคลิป)

อนึ่ง องค์กรร่วมจัดเสวนาครั้งนี้ประกอบด้วย มูลนิธิชีวิตไท (Local Act) สภาเกษตรกรแห่งชาติ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)และ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated