วันนี้ (22 ก.พ. 65) ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ TED Fund ได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จังหวัดพะเยา เพื่อติดตามความผลสำเร็จการพัฒนาผู้ประกอบการ ที่ได้รับการจัดสรรเงินสนับสนุนทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้ โครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) ที่มหาวิทยาลัยพะเยา อ.เมือง จ.พะเยา

ทั้งนี้ ดร.ชาญวิทย์ เปิดเผยว่า จากที่ TED Fund ได้มุ่งดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “แหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ” ได้ก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต นักศึกษา หรือผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาไม่เกิน 5 ปี หรือบุคลากรในสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย หรือผู้ประกอบการ SMEs หรือ Startup โดยมีผู้ประกอบการที่ได้รับทุนสนับสนุน แบ่งเป็นช่วงปี 2561-2562 ให้การสนันบสนับสนุนทุนทั้งหมด 199 โครงการใน 9 กลุ่มโครงการ มูลค่ากว่า 324 ล้านบาท และช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนทุนในกลุ่มโครงการ TED Youth Startup โปรแกรม Ideation Incentive Program (IDEA) และโปรแกรม Proof of Concept (POC) ไปแล้วกว่า 300 โครงการ ด้วยวงเงินสนับสนุนทุนกว่า 224 ล้านบาท

“จากการให้ทุนได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เห็นได้จากการทำงานตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินงานตามแผนของ TED Fund ในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งเป้าจะให้ทุน TED Youth Startup โปรแกรม IDEA จำนวน 150 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 15 ล้านบาท และทุน TED Youth Startup โปรแกรม POC จำนวน 75 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงิน 112.5 ล้านบาท ผ่านแนวทางการสรรหาผู้ประกอบการเพื่อขอรับทุนอุดหนุน 3 แนวทาง คือ 1. สรรหาโดยการเปิดรับสมัครตรงผ่าน TED Fund 2. สรรหาโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) และ 3. สรรหาในกิจกรรม Road Show และการประกวดเวทีต่าง ๆ ภายใต้หลักการพิจารณาที่สำคัญคือ มีการพัฒนาธุรกิจบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีศักยภาพทางการตลาด สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และมีความต้องการพัฒนา ปรับปรุงหรือขยายผลด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ชัดเจนภายในระยะเวลาที่รับการสนับสนุนทุน รวมถึงมีความพร้อมในการร่วมลงทุนในลักษณะที่เป็นงบประมาณ (In cash) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10% ของมูลค่าโครงการ

ขณะที่ ดร.ธนพัฒน์ แพ่งเกษร   อาจารย์มหาวิทยาลัยพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจสกัดเก่ง (ชุดสกัดดีเอ็นเอที่ไม่ต้องอาศัยเครื่องปั่นเหวี่ยง) กล่าวว่า ได้เข้าร่วมกับ TED Fund ภายใต้โครงการ TED Youth Startup โปรแกรม IDEA และได้รับการอนุมัติทุนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และสิ้นสุดโครงการเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564  โดยได้รับทุนอุดหนุนจาก TED Fund จำนวน 100,000 บาท เพื่อใช้พัฒนาแผนธุรกิจชุดสกัดเก่ง ที่ถือเป็นการปฏิวัติกระบวนการสกัดดีเอ็นเอ ด้วยเป็นอุปกรณ์สกัดดีเอ็นเอแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่แตกต่างจากชุดสกัดดีเอ็นเอในท้องตลาด คือ เป็นชุดดีเอ็นเอที่ไม่ต้องใช้เซนตริฟิวจ์ หรือเครื่องมืออื่น ๆ เข้ามาช่วย ทำให้สามารถสกัดดีเอ็นเอได้ทุกที่แม้ไม่มีเครื่องเซนตริฟิวจ์ในห้องปฏิบัติการที่มีทุนต่ำก็สามารถสกัดได้

ดร.ธนพัฒน์ แพ่งเกษร

สำหรับความต้องการใช้ชุดสกัดดีเอ็นเอในตลาดโลก จากรายงานของ marketsandmarkets.com ชี้ว่า ปี 2019 ตลาดชุดสกัดดีเอ็นเอมีมูลค่าถึง 3.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการคาดการณ์การเติบโตในปี 2024 ถึง 4.84 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเห็นได้ว่า ธุรกิจชุดสกัดดีเอ็นเอ ยังคงเป็นธุรกิจที่มีการเติบโต สำหรับผลิตภัณฑ์ “ชุดสกัดเก่ง” ได้ออกแบบให้ตอบสนองผู้ใช้งานทั้ง 3 กลุ่ม โดยมี

1) “ชุดสกัดเก่ง เพื่อการเรียนรู้” ออกแบบมาให้เหมาะกับใช้สำหรับการเรียนการสอน ผู้ใช้จะได้เห็นขั้นตอนทีละขั้นของการสกัดดีเอ็นเอ ทำให้เกิดความเข้าใจถึงหลักการได้อย่างชัดเจน

2) “ชุดสกัดเก่ง เพื่อธุรกิจ” ออกแบบให้มีจำนวนขั้นตอนที่ลดลง ไม่ซับซ้อน ทำได้ไว เหมาะสำหรับห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยที่มีลักษณะงานเป็นงานประจำ

3) “ชุดสกัดเก่ง ณ จุดตรวจ” ออกแบบให้สามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย

” ในส่วนเป้าหมายการต่อยอดธุรกิจ ล่าสุดได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนโครงการ TED Youth Startup โปรแกรม POC มูลค่า 1.5 ล้านบาท จาก TED Fund ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในโปรแกรม IDEA ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา รวมถึงยังได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจาก Angel Fund อีกด้วย” ธนพัฒน์ กล่าว

SIMA_webbanner_468x90_TH_animated