วันพุธที่ 30 มีนาคม 2565 นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวงาน “มหกรรมยางพารา 2564” ณ ห้องประชุม อาคารข่าวสด โดยงานดังกล่าวจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายวิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินนโยบายบริหารจัดการยางพาราสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเกษตรกรปลูกยางจำนวน 1.83 ล้านราย ครอบคลุมพื้นที่ 24.76 ล้านไร่ มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 4.4 ล้านตัน มีผลผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 1 ของโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยบูรณาการร่วมกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนนโยบายพิจารณาแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดยางพารา โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่าง ผู้ซื้อผู้ขาย ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ตลาด นำการผลิต รวมถึงการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนัวตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตและการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพารา
โดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้คณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เพื่อรองรับ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor) ของรัฐบาล สู่การพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรครอบคลุมทั้งกิจกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราทั้งระบบ
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท
ด้าน นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของการจัดงานในครั้งนี้ว่า เนื่องด้วย กยท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ถือเป็นแหล่งปลูกยางพาราสำคัญในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการปลูกยางพาราในประเทศไทย สำหรับการจัดงานมหกรรมยางพาราในครั้งนี้ ต้องยกเครดิตให้กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน ฯลฯ ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานมหกรรมยางพาราอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย และกระตุ้นให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา เกิดแนวคิดในการพัฒนาอาชีพการทำสวนยางพาราให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
โดยแนวทางการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อโชว์ศักยภาพไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราของโลก และเป็นเวทีการเจรจาธุรกิจเพื่อแสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพาราระดับนานาชาติ
“ในวันงานทุกท่านจะได้เห็นการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการดูแลจัดการมาตรฐานในสวนยางพารา วันนี้มาตรฐานในสวนยางพาราถือเป็นเรื่องสำคัญ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้มีการผลักดันในเรื่องของมาตรฐาน FSCTM ซึ่งในงานเราก็จะมีการจัดโชว์เคส แนะนำในเรื่องของการแสดงปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับพี่น้องชาวสวนยางไม่เฉพาะแค่ชาวนครศรีธรรมราช แต่เป็นของทั้งประเทศ ให้สอดคล้องกับที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปลูกยางเป็นอันดับ 1 ของโลก และกำลังพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นวาระของโลก ส่งเสริมให้ยางพาราที่เป็นพืชหลักในการผลักดัน ตามที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ทาง กยท.ผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี”
ซึ่งภายในงานจะมีการจัดแสดงนวัตกรรมยางพาราในหลายรูปแบบ เช่น 1. การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น เพื่อปรับพฤติกรรมของเกษตรกรให้ทันสมัยมากขึ้น และเพื่อยืนยันว่าการจัดการดูแลสวนยางพาราของเกษตรกร ทันตามมาตรฐานโลก และสิ่งนี้จะเป็นการสร้างความสามารถทางการแข่งขันโดยการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการสนับสนุน 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต/ผลิตยางกั้นล้อ ระดมแปรรูปยางเป็น “ยางกั้นล้อรุ่นพิเศษของ พีทีทีโออาร์” ให้บริษัทในเครือ ปตท. 3. โชว์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น นวัตกรรมสระน้ำยางพารา เก็บกักน้ำสู้ภัยแล้ง 4. ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์สำคัญ คือ กยท. เตรียมเปิดบริการตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าแบบส่งมอบจริง และเปิดเวทีเจรจาธุรกิจ ให้แก่เกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางได้มีโอกาสขยายช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและส่งออกไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ามาเที่ยวชมงานและร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานมหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายน 2565 ณ สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับความสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช นายไกรศร วิศิษฎิวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ในฐานะจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกยางเป็นอันดับต้นๆ ส่งผลให้จังหวัดมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมยางพาราอย่างมาก โดยยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับหนึ่งของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกถึง 1,880,560 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 30.26 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมด 6,214,064 ไร่ ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสม ทำให้ยางพาราที่ปลูกในพื้นที่นครศรีธรรมราช สามารถให้ผลผลิตน้ำยางคุณภาพดีติดอันดับโลก ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นหนึ่งในที่ตั้งตลาดกลางยางพาราที่มีความสำคัญของประเทศ ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมยางพาราในนครศรีธรรมราชก็มีปัจจัยหนุนด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัด ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับจังหวัดอื่นๆ ได้โดยสะดวก
“ในแต่ละปีจังหวัดนครศรีธรรมราชมีผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งปีคิดเป็นมูลค่า 180,000 ล้านบาท อันดับหนึ่งเป็นผลผลิตด้านการเกษตร ที่มีมูลค่าประมาณ 47,000 ล้านบาทต่อปี อันดับ 2 เป็นค้าปลีก ซึ่งทั้ง 2 ภาคนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและพร้อมที่จะไปแข่งขันในระดับนานาชาติ นี่คือศักยภาพของพี่น้องเกษตรกรนครศรีธรรมราชในทุกมิติ อย่างอำเภอนาบอน มีโรงงานอุตสาหกรรมการยาง ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปยางพาราชนิดต่างๆ ทั้งโรงงานน้ำยางข้น โรงงานยางแผ่น และโรงงานผลิตยางแผ่นอบแห้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทขึ้นไป ราว 5 แห่ง และนครศรีธรรมราชถือเป็นหมุดหมายในแผนฉบับที่ 13 ที่จะต้องพัฒนาในเรื่องของพลังงานต่างๆ เพราะฉะนั้นการปูพื้นเรื่องยางพาราจะเป็นศักยภาพที่จะก้าวกระโดดไปการแข่งขันนานาชาติได้”
นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร
สุดท้าย นายกมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการสายงานการผลิต บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมยางพาราว่า พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราคือหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างมาก ซึ่งทางคาราบาวกรุ๊ปขอร่วมชื่นชมและยกย่องพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และเพื่อมอบสิ่งดีๆ กลับคืนให้กับพี่น้องเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั่วไป ทางคาราบาวกรุ๊ปขอถือโอกาสนี้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งการมอบความสุขและความสนุกสนาน ด้วยการขนทัพบู๊ธจัดกิจกรรมแจกของมากมาย รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมกรีดยาง โดยมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดงแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1-3 แล้วพบกันที่งาน “มหกรรมยางพารา 2564 : นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นายกมลดิษฐ กล่าวทิ้งท้าย