มะเร็งปอดเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดมาเป็นอันดับ 2 โดยมีสาเหตุสำคัญได้แก่การสูบบุหรี่ การได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม และอีกปัญหาที่สำคัญคือ มลพิษ PM2.5 จึงเกิดงานวิจัยต่างๆ เพื่อหาวิธีที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางสุขภาพขึ้นมา จากการศึกษาค้นคว้าของ นทพ.อภิชญา ปริศนานันทกุล นักศึกษาคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนใจประโยชน์ทางชีวภาพในข้าวก่ำเจ้า เป็นที่มาของงานวิจัย “ผลิตภัณฑ์ข้าวก่ำเจ้า มช. 107 อัดเม็ดเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งในปอด” ได้รับรางวัลเหรียญเงินการประกวดนวัตกรรมแห่งชาติสายอุดมศึกษา ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “พลังงานวิจัย สู่ยุคใหม่แห่งอนาคต” เพื่อแสดงถึงพลังของงานวิจัยที่เป็นกลไกเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ข้อมูลและการวางแผนปฏิบัติทำให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาข้าวก่ำเจ้า มช. 107 เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี จากงานวิจัยนี้เองที่ นทพ.อภิชญาได้นำข้าวก่ำเจ้า มช. 107 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก รศ.ดร.ชนากานต์ เทโบลต์ พรมอุทัยมา และ ศ.ดร.พรงาม เดชเกรียงไกรกุล เป็นที่ปรึกษาและดูแลงานวิจัย มาต่อยอดในทางการแพทย์ ด้วยการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ พบว่ามีสารสำคัญทางการด้านโรคมะเร็งในปอด สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอดได้ จึงค้นคว้าลึกลงไปถึงปริมาณสารสำคัญที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวันต่อปริมาณของข้าว เกิดการพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวก่ำเจ้าเจ้ามช. 107 อัดเม็ด เพื่อให้ง่ายต่อการบริโภคมากขึ้น เหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้จะอยู่ที่ขั้นตอนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีที่ผ่านความร้อนน้อย จึงทำให้สามารถสกัดสารสำคัญจากข้าวก่ำเจ้า มช. 107 ได้ในปริมาณมาก โดยกลุ่มเป้าหมายของผลิตภัณฑ์นี้อยู่ที่กลุ่มคนอายุ 25 – 60 ปีซึ่งเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอด
งานวิจัยนี้นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการตระหนักรู้ของผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า จริงๆ แล้วการพัฒนาชุมชน หรือเศรษฐกิจท้องถิ่นไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่สำหรับตัวแทนเด็กรุ่นใหม่อย่าง นทพ.อภิชญา ก็เริ่มเห็นความสำคัญและมีหัวใจที่อยากจะเห็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวก่ำเจ้า มช. 107 อัดเม็ดที่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้อีกทาง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา พร้อมผลักดันพัฒนาการวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อให้นักศึกษา และผู้วิจัยได้ศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่จำกัด เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งยังสอดคล้องกับหลักของ BCG Model ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ ที่จะนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป